green and brown plant on water

ชั่งกรรม

เวลาอ่าน : 4 นาที

เสียงธรรมจากห้อง  “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน” 

วันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคม 2566

เรื่อง ชั่งกรรม

โดย อาจารย์ คณานันท์ ทวีโภค

กำหนดความรู้สึกตัวทั่วพร้อม  ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนทั่วร่างกาย  เพื่อตัดร่างกายขันธ์ห้า ตัดสภาวะความเชื่อมโยง  ความสนใจในอาการทางกาย  ตัดความห่วง  ความสนใจในร่างกายของเรา และบุคคลอื่นทั้งหมด   ผ่อนคลายทั่วร่างกาย  ยิ่งผ่อนคลาย  ปล่อยวางร่างกายมากเท่าไหร่  เราจะสังเกตเห็นสภาวะจิต   มีความเบาขึ้น    สบายขึ้น  จับเคล็ดลับของการปฎิบัติให้ชัดเจน   มั่นคงในใจ   ยิ่งวาง  ยิ่งเบา  ให้การผ่อนคลายร่างกาย    เป็นการตัดขันธ์ห้าไปพร้อมกัน  จนเป็นอาการความรู้สึกสื่อสารไปยังร่างกายและจิตของเรา  ว่านี่คือเราตัดร่างกาย  

การตัดร่างกายนั้น  หรือการตัดขันธ์ห้านั้น  ประโยชน์เพื่อแยกรูป แยกนาม   แยกกาย   แยกจิต               แยกกายทิพย์ออกจากกายเนื้อ   หรือขันธ์ห้านั้น   ยิ่งเราแยกกาย  แยกจิต    ออกมาได้มากเท่าไหร่   จิตยิ่งมีกำลัง      เพราะความห่วง ความอาลัย ความเกาะ ความยึดในร่างกาย   จึงทำให้จิตของเรานี้  ไม่สามารถเปล่งอนุภาค  ศักยภาพ             จิตตานุภาพของจิต   รวมไปถึงอภิญญาจิตออกมาได้   จิตเป็นอิสระหลุดพ้นจากความห่วง  ความเกาะในร่างกายหนึ่ง    จิตพ้นจากนิวรณ์ห้าประการ  คือความคิด  ความกังวล  ความฟุ้งซ่าน  ความง่วงเหงาหาวนอน เป็นอาทิ  ความไตร่ตรึกนึกถึงแต่สิ่งที่เป็น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส  กามคุณห้า  อารมณ์ใจต่างๆ เหล่านี้ทำให้จิตของเราเศร้าหมอง ทำให้จิตของเราหนัก ทำให้จิตของเราฟุ้งซ่าน  ไม่อาจรวมตัวเป็นเอกัตคตารมณ์  ไม่อาจรวมตัว  ตั้งมั่นอยู่ในอุเบกขารมณ์ได้

กำหนดรู้พิจารณาและปล่อยวางร่างกาย   ปล่อยวางเรื่องราวความกังวลทั้งหลายในจิตใจ    จนเข้าถึงสภาวะความสบาย  ความเบาของทั้งกายและจิต   ยิ่งตัดร่างกาย ยิ่งรู้สึกว่ากายนั้นเบา ยิ่งตัดร่างกาย  ยิ่งรู้สึกว่าจิตมีความเบา มีความสบาย   จดจ่ออยู่กับสภาวะความเบา ความสบายของจิต   เมื่อจิตมันมีความเบา  มีความสบาย   พอเรามาจับลมหายใจปุ๊บ   ลมหายใจมันกลายเป็นลมหายใจละเอียด จากลมหายใจละเอียด ลมหายใจที่เป็นประกายพรึก  น้อมนึกจินตภาพ  จิตตนาการว่าลมหายใจนั้น  เหมือนกับแพรวไหมระยิบระยับ  กลั่นลมหายใจให้เป็นปราณ  เป็นพลังชีวิต  ติดตามดูรู้ลมหายใจตลอดสายตลอดทั้งกองลม   กำหนดดูกำหนด รู้ในอารมณ์สบายของจิต   ลมหายใจเบา   ลมหายใจละเอียด   อารมณ์ใจเรายิ่งเป็นสุข   น้อมให้จิตของเราแย้มยิ้มผ่องใส   ลมสบาย   จิตสบาย   ใจสงบ   จดจ่ออยู่กับลมหายใจสงบ   ความเบา    ความสบายของจิต   ให้จิตได้พักอยู่กับความสงบ   น้อมพิจารณาธรรมว่าความสุขเสมอด้วยความสงบนั้นไม่มี   เราเสวยอารมณ์แห่งความสุข   ในฌานสมาบัติแห่งอานาปานสติ  อันเป็นวิหารธรรม  อานาปานสติขณะนี้   จิตเราเข้ามาพักอยู่กับความสบาย   ความสงบ  อุปมาเหมือนบุคคลผู้เดินทางไกล   พบเจอเรื่องราวต่างๆ   แดดร้อน  ตากแดด  ตากฝน  มีความลำบาก  มีความร้อน  มาพบเจอศาลา   ที่ร่มเงามีต้นไม้ร่มเย็น   เราก็มานั่งพักในศาลา   มีลมพัดสบาย รู้สึกสบายอกสบายใจฉันใด   จิตเราก็เช่นกัน   เข้ามาพักจิตในวิหารธรรม      อานาปานสติในลมสบาย อารมณ์สบาย  เป็นที่พักจิตเราอยู่กับความสุข  ความเบา  ความสงบเย็น   ให้จิตเพราะเราชินกับความสงบร่มเย็น   ทรงอารมณ์ไว้  ใจสบาย  สงบ  ผ่องใส  เป็นสุข

กำหนดรู้ในความเบา ความสบาย  เมื่อจิตสงบร่มเย็นแล้ว  อารมณ์จิตเราผ่องใสเบิกบานแล้ว  จิตควรแก่การคือนำกำลังแห่งความสงบ  ความสบาย  ความสุขของจิต  มาน้อมคิดพิจารณาในธรรม   เป็นการเคลื่อนจิตเข้าสู่วิปัสสนาญาณ   อันที่จริงการกำหนดจิต  โดยใช้กำหนดฌานในอานาปานสติ  และพิจารณาธรรมเลย ส่วนใหญ่แล้ว    จะใช้มากที่สุดในการปฏิบัติ แล้วก็เป็นวิสัยสำหรับผู้ที่ปฏิบัติในสุขวิปัสสโก  คือไม่มีญาณเครื่องรู้  ไม่มีความเป็นทิพย์ของจิตไม่มีฤทธิ์อภิญญา  ไม่มีองค์แห่งปฏิสัมภิทาญาณ    อันที่จริงการที่พระโยคาวจรผู้ปฏิบัติธรรม  มีจิตเข้าถึงความสงบ  สงัดในสมถะ ในอานาปานสตินับตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป  ใช้ความจดจ่อ  พิจารณาธรรม  พิจารณาในมรรคผล     พิจารณาในการตัดสังโยชน์ 10  พิจารณาในการถอดถอนความยึดมั่น  ถือมั่นในร่างกาย  พิจารณาละ วาง ความยึดมั่นในชาติภพต่างๆ  ก็สามารถที่จะเข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้

แต่ในกำลังที่เราฝึกกันในเมตตาสมาธิ  อันที่จริงเราเข้าใจก่อน  กำลังฌานยิ่งสูงเท่าไหร่  ยิ่งมีกำลังในการตัดกิเลสมาก   เหตุนี้เราจึงฝึกฌานสมาบัติ  ฝึกทั้งในส่วนของฌาน 4 ในอานาปานสติ  ฝึกให้ถึงฌาน 4 ในอานาปานสติ  ฝึกในกสิณ   จะได้กองใดกองหนึ่ง  หรือกสิณธาตุทั้ง 4     หรือครบทั้ง 10 กอง    อันที่จริงถ้าได้กองใดกองหนึ่ง  ไล่ต่อไปนิดเดียว  ขยันอีกนิด  ก็สามารถทำครบจบกสิณทั้ง 10 กอง  ได้ไม่ยาก  

การที่เราได้กสิณ  ผลพลอยได้   คือเราได้ทิพยจักษุญาณ  ได้ความเป็นทิพย์  ตั้งแต่วิชชา 3 ไล่ขึ้นไปจนกระทั่งถึงอภิญญา 6  ถ้าเราได้อภิญญา 6  ได้กำลังของมโนมยิทธิ   การที่เราไปเรียนรู้ในเรื่องของชาติภพต่างๆ  กลับไปดูอดีตชาติ กลับไปดูอนาคต  ดูบุพเพนิวาสานุสติญาณ  การไปเกิดจุติของสัตว์  รวมถึงของตัวเราเอง   ตรงนี้ก็ทำให้เราพิจารณา  เกิดความเบื่อหน่ายในการเวียนว่ายตายเกิด   มากกว่าคนที่เขาไม่เคยพบ  ไม่เคยเห็น  ไม่เคยไปดูไม่เคยรู้   แต่การรู้เห็นทั้งหลายเหล่าวนั้น  ญาณเครื่องรู้  จงจำไว้ว่าเป็นไปเพื่อการละวาง รู้เพื่อละ รู้เพื่อวาง

พิจารณาเสมอว่า  คุณธรรมที่เราได้  ไม่ใช่เป็นเพื่อการพอกกิเลสให้หนา  เพิ่มมานะตน  แต่เป็นไปเพื่อให้เกิดปัญญาในการละวาง   ยิ่งเราละวางได้มากเท่าไหร่   ชาติภพยิ่งสั้นลง   ยิ่งใกล้พระนิพพานมากขึ้น     การปฎิบัติธรรมมันมีความแตกต่างจากทางโลก   ทางโลกนั้น   ท่านนิยมยกย่องในการสะสมทรัพย์   สะสมทรัพย์ได้มาก   ยิ่งมั่งมีมาก   ยิ่งเป็นที่ชื่นชม ยิ่งเป็นที่สรรเสริญของผู้คน   หรือหากแม้เกินเลยไปจนกระทั่งกลายเป็นความริษยา   สำหรับคนที่มีกุศลเข้าก็ตาม   เป็นฆารวาสไม่มีไม่งาม   แต่สำหรับผู้ที่ปฎิบัติธรรม  ยิ่งวางได้มาก  ยิ่งปรากฏเกิดอริยทรัพย์  ยิ่งวางได้มากเท่าไหร่   ชาติภพยิ่งหดสั้นลง  

วันนี้ให้เราพิจารณาดูจิตของเราเอง   กำหนดจากลมหายใจสบาย  จากอารมณ์วิปัสสนาญาณ  ที่เราเริ่มพิจารณาจนเกิดปัญญา  เกิดความสงบ   เกิดธรรมะหล่อเลี้ยงในจิต   เราก็เดินจิตต่อมาเป็นสมถะ  กำหนดน้อมนึกกลางใจของเรา  ให้เป็นดวงแก้วใส  ใจกลางดวงแก้วมีองค์พระ   มีภาพสมเด็จองค์ปฐมอยู่กลางดวงแก้ว   ดวงแก้วค่อยๆ สว่างเป็นเพชรระยิบระยับ   เจียระไนละเอียด  องค์พระภายในก็เป็นเพชร  แสงสว่างรัศมีแผ่ทะลุร่างกายขันธ์ห้า  กายเป็นเนื้อ  จนเป็นลำแสงลูกใหญ่ปกคลุม ครอบคลุมกายเนื้อของเราจนหมด  โดยมีกำลังรัศมีจากดวงจิตที่เป็นเพชรประกายพรึกนั้น   ทรงอารมณ์จิตพร้อมกับภาพพระ   ในสภาวะแห่งกสิณจิตเต็มกำลัง   เป็นปฏิภาคนิมิต เป็นเพชรประกายพรึกระยิบระยับ  มีเส้นแสง  แผ่สว่างออก  มีความเป็นทิพย์  คือความพร่างพรายรายรอบอยู่   ทรงอารมณ์ไว้  ความเป็นเพชร  ความเป็นประกายพรึกยิ่งสว่าง  ใจเรายิ่งยิ้ม  เอิบอิ่ม  กายยิ่งยิ้มอิ่มใจความรู้สึกว่ากลางจิตของเรา  มีพลังงานประจุสะสมเป็นพลังงาน  มากมายมหาศาลอยู่ในจิตของเรา สว่าง  ผ่องใส  อัดแน่นอยู่  

กำหนดรู้พิจารณาพร้อมกับทรงอารมณ์ไว้เสมอ   ยิ่งเราทรงอารมณ์ความผ่องใสในจิตกสิณ  จิตปรากฏสภาวะเป็นเพชรประกายพรึก  คือปฏิภาคนิมิต  สว่างตั้งมั่นยาวนานมากเท่าไหร่   จิตยิ่งสะสมเพาะบ่มจิตตานุภาพ   เหมือนประดุจว่าเราชาร์จแบตเตอรี่ให้ใจของเรา   ให้จิตเกิดพลังงานแห่งความทิพย์  ได้มากได้นานเพียงนั้น  

ดังนั้นในการทรงฌานก็คือการ เพาะบ่มฌาน  คือการชาร์จพลังงานให้จิต  พลังงานที่ว่าก็คือพลังงานแห่งความเป็นทิพย์  พลังงานแห่งความพอใจ  พลังงานแห่งบุญกุศล  กำหนดน้อมรู้สึกสัมผัสได้ว่า  พลังงานความสว่างสะสมเพาะบ่มในใจเรามากขึ้น  เพิ่มขึ้น  สว่างขึ้น  ใจอิ่มขึ้น  ดวงจิตเพราะเรายิ่งใสขึ้น  ใจสบาย  สว่าง ทรงสภาวะจิตเข้าถึงจิตเดิมแท้อันเป็นประภัสสร   อยู่ท่ามกลางสภาวะความเป็นทิพย์แห่งจิต  ที่เป็นประกายระยิบระยับ  จิตมีความผ่องใส  สว่างอย่างยิ่ง เมื่อเพาะบ่มกำลังแห่งกสิณจิต  จิตตานุภาพเกิดสภาวะพลังงานแห่งความเป็นทิพย์ สะสมไว้แล้ว   เราก็เดินจิตเข้าสู่วิปัสสนาญาณต่อ 

การที่เราทรงกสิณจิต  ทำให้เราเห็นจิตของเราเอง   ตลอดเวลาที่เราทรงอารมณ์เห็นจิตเป็นประภัสสร  จิตเป็นเพชรประกายพรึก จงรู้ไว้เสมอว่า  ทุกวินาที  ทุกขณะจิตที่เราทรงอารมณ์อยู่   จิตของเราสะอาดจากนิวรณ์ 5 ประการ  สะอาดจากกิเลส คือ ความโลภ โกรธ หลง  นั่นก็คือจิตของเราสงบสงัด ชนะกิเลส  เป็นช่วงเวลายาวนานตราบที่เราทรงอยู่ได้  เมื่อหลุดออกมาจากสมาธิ  บางครั้งกิเลสมันก็จรกลับมา   แต่ใจเราเคยหยุด  เคยอยู่กับความสงบเมื่อไหร่ก็ตาม   ที่ใจเราพึงพอใจกับความสงบที่เรียกว่าธรรมฉันทะ   คือเกิดธรรมฉันทะอยู่กับฌาน อยู่กับความสงบ   ใจเราก็จะเริ่มเบื่อ เริ่มถอยห่าง จากอารมณ์ดราม่า  จากอารมณ์เร้าร้อน  จากอารมณ์ที่มันมีความทุกข์  ความหนัก  ความวิตกกังวล  ธรรมฉันทะเกิดขึ้นเมื่อไหร่   ธรรมฉันทะนี่เอง  ความพึงพอใจนี่เอง  ความรักความชอบนี่เอง   จะทำให้เรามีวิริยะ       มีความเพียร   มีความขยันในการปฏิบัติ    ในการทรงอารมณ์สืบต่อไป     ธรรมฉันทะนั้นใช้กับสมถะใช้กับการพิจารณาธรรม

อีกข้อหนึ่งที่สำคัญ  ที่เรียกว่าธรรมมาพิสมัย  ถ้าจิตเราเกิดธรรมมาพิสมัย   พิสมัยนี้แปลว่าความรัก  คืออารมณ์มันลึกขึ้นอีก  พอใจกับรักใคร่   รักนี่มันลึกมากกว่าฉันทะ   เมื่อไหร่พิสมัยอยู่ในธรรม  อยู่ในกุศล   ใจเราจะอยู่ใกล้กับอารมณ์ของความเป็นพระอริยเจ้า   ดังนั้นระดับความละเอียด  ความลึกของการปฎิบัติ   อยู่ที่อารมณ์จิตของเราดังนั้นตัวเราเองนี่แหละ  จึงควรใช้เจโตปริยญาณ  ตรวจสอบกำหนดดู  กำหนดรู้ในจิตของตนให้ดี   

วันนี้เราก็จะใช้กำหนดของฌาน ใช้ความทิพย์ของจิต  มาตรวจสอบดูจิตของเรา   กำหนดทรงภาพสภาวะจิตเป็นเพชรประกายพรึก  จนสว่างพ้นออกมาจากกายเนื้อทั้งหมด    กำหนดจิตจิตต่อไป   พิจารณาในศาสตร์ของจีน    มีศาสตร์ของการเป็นหมอดู  ในแผนกหนึ่งที่เรียกว่าการชั่งดวง   การชั่งดวงก็คือ ชั่งว่าดวงมันดี มันร้ายยังไง  ไม่ใช่ว่าชั่งมัน  ดวงจะเป็นยังไงก็แล้วแต่มัน   อันนี้คือการชั่งดวง  ว่าดวงดีหรือร้าย 

แต่ในการปฎิบัตินี้เราชั่ง  ถ้าเราจะชั่งก็คือ   ใช้จิตกำหนดดู  พิจารณาดู  ชั่งอะไร  ชั่งกรรมฝ่ายกุศลกับอกุศล   ตอนนี้ให้เราลองพิจารณาดู   ยังไม่ต้องนึกย้อนไปไกล   พิจารณาไปไกล    กำหนดเฉพาะชาติปัจจุบัน         ในชาติปัจจุบัน   นับตั้งแต่เราเกิดออกมาจากท้องพ่อของแม่ ค่อยๆ เติบใหญ่มาจนถึงนาทีนี้  วินาทีนี้   ที่เรากำลังฝึกสมาธิ   ปฏิบัติธรรมอยู่ เราพิจารณาว่าเรามีแต้มบุญ  กับแต้มบาปมากน้อยต่างกันยังไง   จินตภาพอธิษฐานให้เกิดตาชั่ง  ตาชั่งสองฝั่ง  คือฝั่งหนึ่งกำหนดน้อมเอาบุญมาวางไว้ในตาชั่ง    อีกข้างหนึ่งเอากรรมฝ่ายอกุศลมาวางไว้บนตาชั่ง   และเราลองพิจารณาดูว่า  ระหว่างกรรมดีกับกรรมชั่ว   เราชั่งกรรม   พิจารณาดูจิตชั่งดูกรรม  หยั่งดูกรรม   เช็คแต้มบุญของเรา   ระหว่างบุญกับบาปอย่างไหนมีขนาด   อย่างไหนมีปริมาณ  อย่างไหนมีความเข้มข้น   มีความหนักเบาต่างกัน  

ถ้าพิจารณาให้ละเอียด ทานเหมือนกับเหรียญ   ศีลเหมือนกับแบงค์ 20 แบงค์ 50 กรรมฐานเหมือนกับใบละ 100 ใบละ 500 ใบละ 1000  ถ้าการเจริญกรรมฐาน   มีวิปัสสนาญานตัดกิเลสแบงค์ใบละ 1000 แน่นอน   ทำกี่ครั้ง   ทำกี่นาที   ทำมากี่ปี   นั่นก็คือน้ำหนักของบุญที่เราทำ  สังฆทานที่เราทำ  ก็ทำให้ทานนั้นมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น   พรหมวิหาร  4  ที่เจริญ กรรมฐานที่เจริญกำลังก็เพิ่มขึ้น  

คราวนี้อีกฝั่งหนึ่งเราลองดูกรรมมันมีตั้งแต่กรรมเล็กๆ น้อยๆ  ถ้าน้อมจิตเทียบเคียงกับ กรรมที่เป็นกรรมใหญ่กรรมที่เป็นกันใหญ่ก็ได้แต่อนันตริยกรรม   อนันตริยกรรมได้แก่   หนึ่งทำให้พระพุทธเจ้าห้อพระโลหิต  ข้อนี้เราน่าจะไม่ค่อยได้ทำ   เพราะพ้นตามสมัยที่พระพุทธองค์ท่านทรงมีพระชนม์ชีพอยู่   แต่คราวนี้กรรมทางสายอนันตริยกรรม  ที่เป็นกรรมในเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธองค์ก็คือ   แต่ถ้าเราเคยไปทุบทำลาย  หรือเลื่อยเศียรพระพุทธรูป  เลื่อยอกพระพุทธรูป  ทำลายทุบ ทำลายพระพุทธรูป   อันนี้ก็เป็นกรรมจากทำให้พระพุทธเจ้าโลหิต  ปรามาสพระรัตนตรัย     อันนี้ก็เป็นกรรมอันเนื่องกับพระพุทธองค์  

ข้อต่อมาก็คือ  ฆ่าพระอรหันต์  ฆ่าพระอรหันต์นี้มีตั้งแต่  ทำลายชีวิตท่าน  ที่เป็นตัวอนันตริยกรรมโดยตรง     สายอนันตริกรรมที่แยกแขนงย่อยออกมาก็คือ     การที่เราไปสึกพระที่ท่านเป็น พระอรหันต์ ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นสายอนันตริยกรรม    คือทำลายพรหมจรรย์ของท่าน    ทำลายชีวิตความเป็นพระสงฆ์ของท่าน   อันนี้ก็เป็นกรรม  ทำไปทำมา  ตายล่ะเราเคยไปโมทนาเห็นดีเห็นงามสะใจ  กับการสึกพระ ไม่รู้ท่านเป็นพระอรหันต์ไหม  ตรงนี้ก็มีความเกี่ยวเนื่องอยู่   วิธีแก้สิ่งต่างๆ  เหล่านี้ก็คือ  กราบขอขมาพระรัตนตรัยเสมอ  บ่อยๆ แล้วก็สำรวมระวังไม่ไปยุ่งในเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ แบบนี้ 

กรรมฝ่ายอนันตริยกรรมต่อมาก็คือ   ฆ่าพ่อฆ่าแม่ของเราเอง  ฆ่าพ่อฆ่าแม่   ฆ่าผู้มีพระคุณ   อันที่จริงถ้าคิดพิจารณา   กรรมที่อกตัญญูต่อพ่อแม่   กรรมที่อกตัญญูต่างชาติ    ต่อศาสนา    ต่อแผ่นดิน    ก็ถือเป็นอนันตริยกรรม  

อนันตริยกรรมข้อสุดท้าย  ซึ่งอันที่จริงมีคนทำถึงระดับอนันตริยกรรม  โดยที่ไม่รู้ตัวค่อนข้างเยอะ   นั่นก็คือทำให้เกิดสังฆเภท   คำว่าสังฆเภทนั้นแปลว่า  ทำให้สงฆ์แตกแยกกัน  ทำให้ไม่สงฆ์แตกแยกกันนั้น   ทำให้ทะเลาะกัน ทำให้แบ่งฝัก แบ่งฝ่าย ทำให้ถูก ไม่ถูกขี้หน้ากัน   อันนี้จริงๆ  แล้วเนี่ย  ทำให้เกิดความแตกแยกในผู้ปฏิบัติธรรม        ก็ถือว่าเป็นกรรมสายอนันตริยกรรมในข้อนี้   ทำให้เกิดความแตกแยก  เกลียดชังกันในบ้าน  ในเมือง   ก็ถือว่าเป็นอนันตริยกรรมสายนี้   ทำให้แตกแยกกันในครอบครัว  ทำให้แตกแยกกันในวัย   คืออายุมาก  อายุน้อย  เกิดความแตกแยกกัน  ความแตกสมานสามัคคีของคนในชาติ    ดังนั้นกรรมข้อนี้ก็เป็นอนันตริยกรรม  

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันมีตัวคูณ  ตัวคูณคือเมื่อทำแล้วมันเกิดผลกับคนจำนวนมากเท่าไหร่   ทำให้เกิดผลกับคนหนึ่งคน   ทำให้เกิดผลกับคนหมื่นคน   ทำให้เกิดผลกับคนแสนคน   คิดว่ากรรมมันจะเบาหรือจะหนัก   อย่าลืมว่ากรรมสายอนันตริยกรรมนี้  พระเทวทัต  ทำร่วมไปทั้งหมด   มีตั้งแต่กลิ้งหินจนพระพุทธเจ้าห้อพระโลหิต   ไม่ได้ทำเอง  แต่ใช้คนกระทำก็โด ใส่ร้ายพระพุทธองค์ ทำให้เกิดสังฆเพศ  คือความแตกแยกในหมู่สงฆ์  ยุแยงให้พระเจ้าอชาตศัตรู  ฆ่าพ่อของตนเองคือพระเจ้าพิมพิสาร ดังนั้นทำหลายกระทง ทำหลายข้อหา  จึงไม่แปลกที่เกิดผลของกรรมทันใจก็คือ   เดินไปถูกธรณีสูบลงสู่อเวจีมหานรก   มียับยั้งให้กลับใจครั้งสุดท้าย  คือลงมาเหลือแต่คอพนมมืออยู่ แล้วก็กราบขอขมา  ขอโทษพระพุทธเจ้า   พระพุทธเจ้าก็ทรงตัดให้พรว่า   ท่านอโหสิกรรมไม่ถือโทษโกรธเคือง  มันเป็นกรรม   เป็นวิบากของพระเทวทัตเอง   แล้วก็ยังเมตตาที่พยากรณ์ให้กำลังใจว่า   เมื่อเธอลงไปเสวยผลกรรมในอเวจีมหานรกจนจบ    เธอก็จะค่อยๆ   ปรากฏผลบุญ    ความดีในอดีตชาติตามมาสะสม    ค่อยๆ  เพาะบ่มบารมีขึ้น       จนปรากฏความพระปัจเจกพระพุทธเจ้าในอนาคต  อย่างน้อยคือพระพุทธองค์ท่านยังทรงเมตตาให้กำลังใจ  ว่าชีวิตนี้ยังมีหวัง   สำหรับโลกปัจจุบันในสถานการณ์   ที่เราพบเจออยู่นั้นสุ่มเสี่ยงต่ออนันตริยกรรมอย่างยิ่งในหลายข้อ   พระพุทธองค์ทรงตัดไว้เสมอ   ตราบใดที่ยังไม่ตายไปจากโลกนี้  ยังไม่สายที่จะกลับตัวกลับใจ   ถ้ากลับตัวกลับใจ  ขอขมากรรม  กลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี   ยังไม่ถลำลงไปลึกขนาดหนัก   ในระดับที่เป็นตัวอนันตริยกรรมตัวตรงทั้ง 5 ประการ  ก็ยังพอมีจะมีสิทธ์  มีข้อบรรเทาเบาบาง  อาจจะมีจุดที่พอจะรอดจากนรก  หนีนรกได้อยู่ 

ดังนั้นคนทั้งหลาย  บุคคลทั้งหลายเป็นผู้จมไปด้วยโมหะ  โลกในยุคปัจจุบัน ผู้คนเต็มไปด้วยโมหะ   เรามาปฎิบัติธรรมแล้ว    ก็จงเป็นผู้ที่มีปัญญา     ปัญญาที่ว่า    คือมีปัญญาในธรรม   ปัญญาทางโลกบอกว่า     การเอารัดเอาเปรียบคนอื่นได้   แถไถ ถูไถ เอาชนะคัดคานตามอำเภอใจได้   ถือว่าเป็นความสามารถ ความเก่ง  แต่ในทางธรรมนั้น  ไม่มีอคติ  ทุกสิ่งทุกอย่างเที่ยงตรง  ตรงไปตรงมาทั้งหมด   ทำเหตุอย่างใดได้อย่างนั้น   เจตนาเป็นอย่างใดแม้ใช้วาจาคำพูดมาอำพรางปิดบังเจตนา     แต่กรรมคือเจตนา   ผลแห่งกรรมก็ปรากฏ  

ดังนั้นเรามีปัญญารู้พิจารณา  ผิดชอบชั่วชั่วดีแล้ว   เราก็พิจารณาดูกรรม   ทั้งฝ่ายกุศลและกุศลของเรา พิจารณาด้วยอุเบกขารมณ์  คือมีความเที่ยงธรรมไร้อคติต่อเรา   พิจารณาตามความเป็นจริงว่าคุณงามความดีที่เราทำชาตินี้  เราเกิดมาจุติเป็นมนุษย์   ชีวิตเรากำไรหรือขาดทุน   กำไรบุญ  หรือกำไรบาป  บุญหนักหรือกรรมมันหนักกว่าถ้ากรรมมันหนักเกินจะทันทน   ถึงเวลายิ่งเป็นตัวเร่งให้กรรมส่งผลเร็ว   แต่ถ้าบุญเราบุญหนัก  บุญหนักยิ่งดึงดูดให้บุญใหญ่มาส่งเร็ว   กำหนดพิจารณารู้ของเรานะ  แล้วให้จิตเรามีความยินดี ขณะที่จิตเรามีความยินดีในบุญ  เราก็ยิ่ง ต้องกำหนดพิจารณาว่า   เราไม่ประมาทในการสร้างบารมี   สร้างบุญกุศล  สร้างความดีทั้ง  ทาน ศีล ภาวนา             ให้ครบถ้วน  

อย่างอันนี้อาจารย์เล่าประสบการณ์สมัยบวช  ตอนที่บวชกำหนดนึกอะไร  นึกว่าอยากกินอะไร  ได้ตามนั้นทุกอย่าง   อยากกินข้าวมันไก่ก็ได้ข้าวมันไก่   อยากกินมะกะโรนีก็ได้มะกะโรนี   นึกอะไร  เอ่ยปากว่าอยากกินอะไรวันรุ่งขึ้นก็ได้บิณฑบาต   หรือมีคนมาเลี้ยงพระ  ตามที่ปากพูดตลอดทุกครั้ง    ก็ถือว่ามีวาจาเป็นมหานิยม   คราวนี้ก็เริ่มสนุก   พูดกันเล่นๆ  ในหมู่พระเพื่อนที่เป็นพระด้วยกัน   ถ้างั้นขอลองของ  จริงๆ ก็คือเป็นการลอง     ลองออเดอร์ไข่ปลาคาเวียร์ เป็นพระดูซิ  จะได้ฉันไหมไข่ปลาคาเวียร์  จริงๆ มันไม่ได้มีความอยากหรอก  เพียงแต่แค่อยากลอง ไม่ให้อยากกิน เพราะถึงเวลาก็ปรากฏว่า   ไปได้ฉันตอนที่พระเพื่อนด้วยกัน    เขาสึกไปเป็นฆารวาสแล้ว    พาไปกราบหลวงตามหาบัว   ขณะรอพบหลวงตามหาบัวอยู่   ก็มีโยมเค้าเห็นเรานั่งอยู่ริมน้ำ  ที่สวนแสงธรรมพุทธมณฑล    เราเป็นพระใหม่นั่งอยู่องค์เดียวริมน้ำ   กำลังจ้องกสิณน้ำอยู่  ดูน้ำเพลินๆ ใจสบายๆ อยู่   โยมเค้าก็แปลก  แทนที่เอาไข่ปลาคาเบียร์ไปถวายหลวงตาบัว   เค้าก็ยกเป็นจานแก้วเจียระไน   พร้อมกับไข่ปลาคาเวียร์มาถวายพระใหม่   ที่เป็นพระอาคันตุกะ   แล้วก็นิมนต์ให้ฉันตรงริมน้ำนั้น   อาจารย์ก็ทาน   ตอนนั้นเรียกว่าฉัน   อาจารย์ก็ฉัน   ในขณะที่เป็นเพศพระ แต่ว่าจิตก็มีสติกำหนดรู้เลยว่า   ฝีมือเทวดาท่าน   คนที่มาถวายก็ไม่รู้จะเป็นคนหรือจะเป็นเทวดา  คิดพิจารณายังไงก็รู้ว่า  อ้อ! สิ่งที่ลองของ   นี่ถ้ารู้ว่าแน่   บอกเราขอท่านก็ให้ได้   ในเมื่อเราวางกำลังใจในการบวชเราไว้ดี    แต่เวลาที่ฉัน ก็ฉันด้วยสติ   ความอร่อยก็ไม่มี   เพราะว่าใจของเราตอนนั้น   สติอยู่รู้ในการเคี้ยวตลอดเวลา    กำหนดรู้แต่ว่าที่ขอนั้นเป็นจริง   สิ่งที่นึกนั้นเป็นไปดังใจได้ทุกอย่าง    อันนี้ก็ด้วยบารมีของผ้าเหลือง   ด้วยบารมีของกรรมฐาน      แต่หลังจากนั้น   ก็ยิ่งทำให้อาจารย์กลับมีความรู้สึกในขณะที่บวช    ว่าตายล่ะ!  เราไปกดเงินเกินบัญชีไปเยอะ   เดี๋ยวบุญจะหมด  ยิ่งต้องเร่งสร้างบุญ  สร้างกุศล  เหมือนเอาง่ายๆ ว่าปกติ     เรามีบุญก็เหมือนธนาคารเรามีเงิน 1,000,000     นึง  ปกติเราก็ใช้ ไปตามประสา 1,000 มั่ง 10,000 มั่ง  นี่เรากดออเดอร์ไข่ปลาคาเวียร์เข้าไป   นี้เท่ากับเหมือนกับว่าเรากด  กดเงินในบัญชีออกเป็น 100,000   เดี๋ยวมันจะหมด  ความรู้สึกมันเป็นแบบนั้น  แต่ความเป็นจริงก็อาจจะมีเงินเยอะกว่านั้น  คือบุญที่เป็นทิพยสมบัติอาจจะมีเยอะกว่านั้น    แต่ความรู้สึกก็บอกว่า  ตายละ!    เรายิ่งต้องได้ประมาทในการสร้างความดี   สร้างกุศล   อันนี้ก็เล่าให้ฟังอุทาหรณ์   ให้เราดูของเราแต่ละคนนะ  ฟังมาเพลินๆ แล้วก็ดูของตัวเอง   ดูบุญของตัวเอง  ว่ามีเยอะ  มีน้อยแค่ไหน   ลงมาเกิดให้คุ้มหรือยัง   สัญญาจากข้างบนว่าลงมาเกิดจะลงมาสร้างบุญ  สร้างบารมี  ถึงเวลาเป็นไงเพลิดเพลินกับทางโลก  ใช้บุญเก่า  สะสมบุญใหม่ไหม   กำไรหรือขาดทุน  บุญกับบาป   อันที่จริงมันหักล้างไม่ได้  แต่ให้รู้ว่าเรา คุ้มไหมที่ลงมาเกิด   ถ้าให้คุ้มที่สุดที่ลงมาเกิดก็คือ  ลงมาเกิดชาตินี้เพื่อไปพระนิพพานเพียงจุดเดียว 

ดังนั้นทรัพย์ทั้งหลาย   บุญทั้งหลาย   บุญเกิดทรัพย์   ทรัพย์ที่ว่า  ทั้งมีการเปลี่ยนมาเป็นมนุษย์   มนุษย์สมบัติ  ก็คือแก้วแหวนเงินทอง  ความร่ำรวย  ความคล่องตัวทั้งหลาย  โชคลาภทั้งหลาย  ที่เป็นวัตถุธาตุ   อันนี้ถือว่าเป็นมนุษย์สมบัติ   อีกประเภทหนึ่งก็ทิพยสมบัติ  ทิพยสมบัติอย่างเช่น   เราไปถวายสังฆทาน  ถวายมหาสังฆทานถวายสังฆทาน   ถวายเสร็จชุดหนึ่งปุ๊บ   ปรากฏว่าในวิมานของเรา   ในสวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่ง   เกิดผ้าทิพย์  เกิดเครื่องทรง  อันเกิดขึ้นจากการถวายผ้าไตร   เสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องประดับของกายทิพย์    ก็มีความสวยงามแพรวพราวละเอียด   อาหารเครื่องไทยทานที่เป็นอาหาร   ก็ทำให้เกิดอาหารทิพย์   พระพุทธรูปที่เราถวายในชุดสังฆทาน       มหาสังฆทาน  ยิ่งองค์ใหญ่มากเท่าไหร่   ยิ่งเป็นทองทองคำ   รัศมีกายอันเกิดขึ้นจากการถวายพระพุทธรูป   ก็ทำให้รัศมีกายของเรา   ความเป็นทิพย์มีความสว่างมากเท่านั้น   ในขณะเดียวกันเราถวายวิหารทาน ถวายวิหารทานก็มีผลโดยตรงกับวิมารแก้ว  วิมานเพชรที่อยู่บนสวรรค์ก็ดี  อยู่บนพรหมโลกก็ดี  หรือแม้แต่วิมารบนพระนิพพานก็ดี     เกิดผลเช่นเดียวกันทั้งหมด   ไม่ว่าเราจะอยู่ในภพใด  หรือเราพ้นไปสู่พระนิพพานแล้วก็ตาม   อันนี้ก็คือทิพยสมบัติ  

ข้ามไปกว่านั้นก็คือพรหมสมบัติ  พรหมสมบัติเกิดขึ้นได้จาก   การที่เราเจริญพระกรรมฐาน  เจริญฌานสมาบัติ   จะเป็นฌาน 1, 2, 3, 4 จากอานาปานสติก็ดี   จากการทรงกสิณก็ดี   หรือการที่เราเจริญพรหมวิหาร 4  เมตตาอัปมานฌาน เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา  กำลังตรงนี้ก็ทำให้เราเกิด  ในความเป็นพรหม  ความเป็นทิพย์ของความเป็นพรหม   ประเด็นปัจจัยสำคัญคือกาล  คำว่ากาล  ก็คือเวลาความยาวนานในการเสวยบุญของพรหมนั้นยาวนาน   ผันแปลตรงกันกับ  การที่เราสามารถทรงอารมณ์ฌานได้นานแค่ไหน   ยิ่งนานเท่าไหร่  อายุความเป็นทิพย์ในการเป็นพรหม   ถ้าเราไปจุติในความเป็นพรหม  อานิสงส์ของเดิมที่เราเคยทำ  เคยทรงฌานได้นานเท่าไหร่  ก็ทำให้ความเป็นทิพย์ พรหมเราก็จุติปรากฏอยู่บนพรหมโลกนานเพียงเท่านั้นเช่นกัน    อันนี้ก็เรียกว่าพรหมสมบัติ 

ท้ายสุดเป็นสิ่งสำคัญที่สุด   ที่เรียกว่าอริยทรัพย์หรือนิพพานสมบัติ   อริยทรัพย์หรือนิพพานสมบัติ   จะเสวยในความสุขจากสภาวะที่เราปราศจากกิเลส    ที่เรียกว่าเราเสวยวิมุต    อารมณ์จิตอันวิมุตที่เราเสวยอารมณ์นั้น   นั่นก็คือผลแห่งอริยทรัพย์เป็นประการที่หนึ่งในขณะที่ชีวิต    หากแม้เราตั้งจิตเพื่อพระนิพพาน  ตายเมื่อไหร่เราไปนิพพาน   นิพพานสมบัติปรากฏเมื่อไหร่   เราก็ไม่ต้องลงมาเกิด    ถือว่าสิ้นภพจบชาติ   จบกิจในพระพุทธศาสนา   ไม่ต้องมาเกิดอีกต่อไป   กรรมทั้งหลายไม่อาจจะตามทัน

ดังนั้นทรัพย์ทั้งหลายที่เราขนขวายหา   ทรัพย์ที่เป็นเลิศที่สุด   สูงค่าที่สุด   คืออริยทรัพย์    คือนิพพานสมบัติดังนั้นเมื่อเราปฏิบัติกันมาถึงจุดนี้   เพียงแค่เรากำหนดจิต   ปฏิบัติอยู่ในนิพพานสมบัติ    ตราชั่งบุญ  บาป  กุศล  อกุศลก็เททับมาทางด้านกุศล  ด้วยน้ำหนักแห่งนิพพานสมบัตินั้นมีสูง   มีน้ำหนักมาก  ตัดภพตัดชาติได้มากมายมหาศาล  ดังนั้นถ้าหากเราพิจารณาถึงจุดนี้    เราชาตินี้เกิดมาคุ้มแล้ว   เกิดมาปฏิบัติจนกระทั่งวางกำลังใจ   ว่าตายเมื่อไหร่ไปนิพพานชาตินี้ได้    ตรงนี้ก็ถือว่า   เราเป็นหนึ่งในหลายหมื่น  หลายพันล้าน    เราเป็นคนเราเป็นเขาโค    ไม่ใช่ขนโค  เราเป็นเขาโคซึ่งมีน้อยกว่าขน   เส้นขนของโค   ดังนั้นถ้าเราภูมิใจว่า  ตราชั่งบุญ  บาป  ที่เรากำหนดอยู่ในจิต เพียงแค่อารมณ์จิตเพื่อพระนิพพาน   ตายเมื่อไหร่ไปนิพพาน   กำลังกุศลก็มากมายมหาศาลแล้ว  

ดังนั้นถึงแม้ว่าเราจะมีบุญกุศลมากมายมหาศาล   เราจงอย่าได้ประมาทในการสร้างความดี  ทาน  ศีล  ภาวนา  ทำให้จบ  ทำให้ครบ  ทำให้ครอบคลุม  ทำให้สม่ำเสมอ  ทำให้เป็นนิจ  สร้างกุศลเป็นนิจ  เป็นปกติทุกวัน  ทรงอารมณ์พระนิพพานทุกวัน   เมื่อจิตของเราเกิดความโสมนัสปรีดาปราโมทย์   เอิบอิ่มในบุญกุศลที่หล่อเลี้ยง    เมื่อกำหนดดูกำหนดรู้ในจิตแล้ว  เราน้อมจิตให้เกิดความกตัญญูกตเวทีต่อ   องค์สมเด็จพระผู้มีพระเจ้าผู้เสด็จตรัส   นำพระธรรมคำสั่งสอน   ให้เกิดขึ้นกับโลกใบนี้   เป็นพระประทีปแก้ว  และพระอริยสงฆ์น้อมนำคำสอน   สืบต่อมาตราบ 2500 กว่าปีเศษ  จนธรรมเหล่านั้นมาถึงเรา   และเข้าสู่จิต สู่ใจของเรา  มาปรับจิตใจของเรา   จากปุตุชนสู่อริยมรรค  สู่อริยผล   สู่มรรคผลพระนิพพาน เราน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์  ด้วยความนอบน้อม          ด้วยความเคารพ   ใจมีความเอิบอิ่มผ่องใส   ตั้งจิตอธิษฐาน  ขอการปฎิบัติพรหมจรรย์ของข้าพเจ้า    จงเป็นไปเพื่อพระนิพพานในที่สุดด้วยเทอญ 

ทรงอารมณ์ไว้    คนไหนฝึกได้มโนมยิทธิ      ก็ยกจิตขึ้นไปกราบพระพุทธเจ้าบนพระนิพพาน   ใจมีความนอบน้อม  ใจมีความพร้อมแผ่ว  ใจมีความเอิบอิ่ม  ทรงอารมณ์พระนิพพาน   นิพพานสุขัง   ทรงอารมณ์พระนิพพานให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้   ในขณะที่ทรงอารมณ์  เห็นภาพกายทิพย์เรา  กายพระวิสุทธิเทพ  แผ่เมตตาอยู่บนพระนิพพาน แผ่เมตตาลงมายังสามภพ สามภูมิ  ใจยิ่งสว่าง  ยิ่งเอิบอิ่ม 

ใจสบาย ผ่องใส  อาทิสมานกายสว่าง   กระแสเมตตาที่แผ่ลงมาจากพระนิพพาน  น้อมนำกระแสแห่งมรรคผลกระแสแห่งความสุข  ความเจริญ  กระแสแห่งบุญ   ลงมายังชาติ  ลงมายังประเทศไทย   ลงมายังวัดวาอาราม       สถานปฎิบัติธรรมทุกแห่ง   พระพุทธรูป    พระบรมธาตุเจดีย์    พระธาตุเจดีย์   สิ่งศักดิ์สิทธิ์     ขอกระแสพุทธานุภาพ      ธรรมานุภาพ  จงมาสถิตสถาพร   มีความสว่างไสว   มีบุญกุศล  มีความถูกต้องในคุณธรรม  จริยธรรม  ศีลธรรมในจิตใจของผู้คน  รู้ตื่นขึ้นสู่ความรับผิดชอบชั่วดี  รู้ดี  รู้ชั่ว   ขอคนทั้งประเทศ  ขอคนทั้งแผ่นดิน   จงตื่นขึ้น  รู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร   อะไรเป็นประโยชน์   อะไรเป็นโทษต่อชนส่วนใหญ่   น้อมกระแสจากพระนิพพานลงมา    ประสาน   สมานความรัก  ความสามัคคีของคนในชาติ   ให้รวมใจเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้ง   น้อมกระแสกุศลส่งถึง  พระเศวตฉัตรเทวดาผู้พิทักษ์รักษาพระชนมวารขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   พระบรมราชินีนาถ   และพระบรมวงศานุวงศ์   รวมถึงผู้ที่มีจิตเจตนาบริสุทธิ์โดยถ่องแท้   ที่จะทำคุณประโยชน์ต่อชาติ  บ้านเมือง  ส่วนรวม  อย่างจริงใจด้วยเทอญ 

ขอให้ท่านทั้งหลาย  จงเป็นสุข  ขอกระแสบุญจงเป็นเกาะแก้ว  คุ้มครองรักษาพิทักษ์ท่าน    ขอจงมีความคล่องตัว  สายทรัพย์  สายสมบัติหลั่งไหลลงมา  มากมายมหาศาล   ใจเรามีความยินดี   มีความพอใจ ในการแผ่เมตตาจากพระนิพพานลงมา   เรากำลังใช้กำลังแห่งพระกรรมฐาน    ช่วยทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา  ค้ำจุนชาติ  บ้านเมือง แผ่นดิน  เป็นเกาะแก้วคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์   ขอคุณงามความดีที่เรามีจิตเจตนาต่อส่วนรวม  ต่อสามสถาบันนี้   เทพพรหมเทวา   สิ่งศักดิ์สิทธิ์จงรับรู้  รับทราบ   ประกาศไปทั่วสามภพภูมิ   ขอให้เทพพรหมเทวาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ท่านที่เป็นสัมมาทิฏฐิ   ได้เมตตาพิทักษ์รักษาอภิบาลข้าพเจ้า  ครอบครัวของข้าพเจ้า  บุตรหลานทั้งหลาย  ญาติสนิทมิตรสหายทั้งหลาย  ธุรกิจกิจการทั้งหลาย   รวมไปถึงชาติ  แผ่นของข้าพเจ้า  ให้มีแต่ความสุขความเจริญรุ่งเรือง   ด้วยเหตุแห่งบุญกุศลทั้งหลายที่ข้าพเจ้า ได้มาบำเพ็ญไว้ดีแล้วด้วยเทอญ  

จากนั้นน้อมจิตนะ  ให้ใจเราผ่องแผ้ว  เห็นกายพระวิสุทธิเทพเราค่อยๆ น้อมพุ่งเป็นแสง  ส่องตรงลงมาจากกายเนื้อ กระแสจากพระนิพพานชำระล้างฟอกธาตุขันธ์ สลายล้างโรคภัยไข้เจ็บ ไอพิษ ไอโรค มลทิน เนื้องอก        เซลล์เนื้อร้าย  หลอดเลือดที่อุดตันทั้งหลาย    จงสลายด้วยกำลังแห่งธาตุธรรม     ด้วยกำลังแห่งธรรมโอสถ    เยียวยา  ซึมซาบ   ฟอกธาตุขันธ์ของเราทุกคน   กำหนดน้อมจิตให้เห็นโครงกระดูกใสเป็นแก้วสว่าง    กล้ามเนื้ออวัยวะภายในทุกส่วน  เส้นเลือดใสเป็นแก้ว  เซลล์ทุกเซลล์ในระดับที่เล็กที่สุด  ดีเอ็นเอใสเป็นแก้ว  ผม  ขน  เล็บ ฟัน หนังทั้งหลายใสเป็นแก้วสว่าง    ธาตุขันธ์สะอาดบริสุทธิ์  

จากนั้นอธิษฐานขอกำลังแห่งพระกรรมฐาน   เปิดสายทรัพย์  สายสมบัติ  สายบารมีของข้าพเจ้า  ในขณะที่ชีวิตอยู่เป็นมนุษย์    ขอทรัพย์ทั้งหลาย  ไม่ว่าจะเป็นทิพยสมบัติ  พรหมสมบัติ   นิพพานสมบัติ  ขอกุศลทั้งหลาย   ความเป็นทิพย์ทั้งหลาย   จงกลั่นกลายมาเป็นมนุษย์สมบัติ   อันจับต้องได้   ใช้สร้างบารมี  สร้างความดี ในชาติปัจจุบันของข้าพเจ้าทุกคน   ขอจงเป็นเศรษฐี  มหาเศรษฐี  เป็นอุบาสก  อุบาสิกา  พิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา                  เป็นมหาเศรษฐี  ดูแลชาติบ้านเมือง  ทำคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม   สืบต่อไปอย่างอัศจรรย์ด้วยเทอญ 

จากนั้นนะ  กำหนดจิตหายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ สามครั้ง  ช้า ลึก ยาว  พุทโธ   ธัมโม  สังโฆ    หายใจเข้าออกครบแล้ว  ถอนจิตช้าๆ จากสมาธิ  ใบหน้าแย้มยิ้ม  ภายในจิตแย้มยิ้ม  เป็นสุข  น้อมจิตสาธุ  โมทนากับกัลยาณมิตร   ที่ปฎิบัติธรรมทุกคน   รวมทั้งที่มาฟังในภายหลัง   กายจิตมีความสบายผ่องใส  ใจเอิบอิ่ม  จิตเป็นกุศล    สำหรับวันนี้ก็ขอโมทนาบุญกับทุกคน  ให้มีความสุขความเจริญ   ตั้งจิตตั้งใจที่จะเขียนแผ่นทอง   ในขณะที่เรายกจิตขึ้นพระนิพพานในแต่ละครั้งทุกวัน  เขียนรวบรวมสะสมไว้เก็บที่ตัวเอง   เพื่อนับให้ได้ว่าตัวเรายกจิตขึ้นพระนิพพานกี่ครั้ง  ตราบจนสร้างองค์พระเสร็จ   ตราบจนที่เรากำลังจะเริ่มสร้าง เริ่มหล่อองค์พระ  เราจะได้หลักพันหรือหลักหมื่น  ในแต่ละคน    ยิ่งกำลังใจสูง   ทำด้วยความตั้งมั่น    ยิ่งทำให้คติที่ไป    ที่จะตายเมื่อไหร่   ไปพระนิพพานของเรามันสำเร็จได้จริง      ถ้าเรามานับแผ่นทอง แล้วเรายกจิตขึ้นพระนิพพาน  ตั้งใจยกจิตขึ้นนิพพาน  เราก็เขียนแผ่นทองทุกครั้ง   เราทำได้หมื่นครั้ง  เราคิดว่าความสงสัยว่าเราจะไปนิพพานได้ ไม่ได้ มันหมดจากใจ   มันกลายเป็นว่า  เมื่อไหร่ที่เราทำสิ่งใดซ้ำทำซ้ำย้ำๆ จนคล่องตัว 100 ครั้งถือว่าเป็นผู้ที่มีความชำนาญ   ทำสิ่งใดย้ำๆ ซ้ำๆ  ด้วยความความสามารถคล่องตัวเข้าใจเริ่มลึกซึ้ง  สูงขึ้นเรียกว่าเป็นอาจารย์  เป็นครุ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราทำซ้ำในสิ่งใดจนครบ 10,000 ครั้งเรียกว่าเราเป็นปรมาจารย์  เป็นมาสเตอร์  ถ้ามากกว่านั้นทำเป็น 100,000 ครั้ง  เรียกว่าแกรนด์มาสเตอร์   เป็นปรมาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญชำนาญลึกซึ้ง  ในสิ่งที่เราทำซ้ำนั้น 

ดังนั้นยิ่งเราย้ำ  ยิ่งเรายกจิต   จิตเราเองนั่นแหละที่มีพัฒนาการสูงขึ้น  ดังนั้นก็ขอให้เราทุกคน  เข้าใจนัยยะอุบายในการสอนศิษย์  เสร็จในการทำ  ในการสร้างกุศล  ทั้งเป็นการสร้างพระที่ทำยาก  ใช้กำลังใจสูงเป็นประกันที่หนึ่ง  ผู้ที่ร่วมกิจกรรมในการสร้างพระ  ก็ล้วนแต่กลายเป็นผู้ที่มีความชำนาญเชี่ยวชาญ  ในการปฎิบัติฝึกฝนจิต   พัฒนาจิตได้ดีมากขึ้นเพียงนั้นด้วยเช่นกัน   ดังนั้นกุศโลบายดังกล่าว   ก็ขอให้เกิดผลและเราทำด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง     กันทุกคนด้วยเทอญ 

สำหรับวันนี้ก็ขอโมทนาบุญกับทุกคน  สวัสดี

เรียบเรียงและถอดความโดย คุณ สิริญาณี แลบัว

คุณไม่สามารถคัดลอกเนื้อหานี้ได้