green and brown plant on water

ธรรมะพิเศษวันวิสาขบูชา

เวลาอ่าน : 4 นาที

เสียงธรรมจากห้อง  “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน”  

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม  2565

ธรรมะพิเศษวันวิสาขบูชา

 โดย อาจารย์ คณานันท์  ทวีโภค     

            สวัสดีครับ กำหนดจิตรู้ในลมหายใจสบายๆ ผ่อนคลาย ปล่อยวางร่างกาย ในระหว่างที่รอเพื่อนๆเข้ามา เรากำหนดความรู้สึกปล่อยวางร่างกาย กำหนดความรู้สึกอยู่กับลมหายใจสบายๆ ปล่อยวางภาระทุกอย่าง ความฟุ้ง ความกังวล วางทุกสิ่ง ยิ่งวางได้มากเท่าไหร่ ใจเรายิ่งยิ้มจากภายในได้มากเพียงนั้น อยู่กับลมหายใจสบายๆ   จิตกำหนดรู้สัมผัสถึงกระแสของปราณพลังชีวิต ความสดชื่น ความมีชีวิตชีวา ไม่เพียงแต่เป็นลมหายใจสบาย แต่จิตกลั่น ซึมซับรับพลังชีวิต รับปราณจากธรรมชาติที่อยู่รายรอบตัว ผ่านเข้าสู่ร่างกายธาตุขันธ์ จิตปลอดโปร่ง ร่างกาย เบาสบาย และเปี่ยมไปด้วยพลัง จดจ่ออยู่กับลมสบายและอารมณ์สบาย ทรงอารมณ์ความรู้สึกของเรา ประคับประคองความสบาย ความสุข ความผ่องใสนี้ไว้ กายจิต โล่ง ว่าง เบา ผ่องใส จดจ่ออยู่กับความสงบนี้ จดจ่ออยู่กับความผ่องใสนี้ ประคับประคองความสบาย ความสงบ ยิ่งลมหายใจเราละเอียด สงบ กำลังสมาธิของเรา ยิ่งเข้าสู่ระดับของฌานสมาบัติ ที่สูงขึ้น

กำหนดใช้ปัญญาพิจารณาไปพร้อมกับความรู้สึกที่เรารู้ในลมหายใจ ใช้ปัญญาประกอบ ว่ายิ่งเราปล่อยวางเข้าสู่ ความสงบ จิตของเรายิ่งมีความก้าวหน้าขึ้น ยิ่งสามารถปล่อยวางเรื่องราวที่มากระทบในระหว่างที่มีการดำเนินชีวิต การทำงานในแต่ละวันของเราได้เร็วเพียงนั้น อารมณ์ของฌานสมาธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฌาน 4 อารมณ์จิตสำคัญคือ อุเบกขารมณ์ คือสภาวะที่ใจเราวางเฉย อุเบกขาต่อสิ่งที่มากระทบทางอายตนะทั้งหลาย ไม่ปรุงแต่ง ไม่หวั่นไหว ไม่ฟุ้ง ไม่ไหล ไม่ทุกข์ไปกับสิ่งที่มากระทบกันนั้น ใจ จิตของเราตอนนี้เป็นอุเบกขารมณ์ เมื่อใจเราชินและเข้าสู่สภาวะของ อุเบกขารมณ์ได้มากเท่าไหร่ ใจเราก็ยิ่งละ วาง ตัด ระงับ สงบ นิวรณ์ทั้ง 5 ประการ รวมไปถึง ความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้บรรเทา เบาบางลงไปได้ ง่ายขึ้น เบาขึ้น เร็วขึ้นเพียงนั้นด้วยเช่นกัน

กำหนดจิตพิจารณา เป็นการอธิษฐาน ในฌาน ในสมาธิว่า นับแต่นี้ ข้าพเจ้าสามารถเข้าสู่อุเบกขารมณ์ จิตเป็นอุเบกขา ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งที่มากระทบ จิตไม่ฟุ้ง ไม่ปรุง ไม่กระพือ ไม่กระเพื่อม ไปกับอารมณ์ต่างๆ กระแสต่างๆ เรื่องราวต่างๆที่มากระทบใจ จิตข้าพเจ้าราบเรียบ สงบนิ่ง ดังผืนน้ำที่เรียบสงบ ดุจดั่งทะเลสาบในคืนคลื่นลมสงบ กลางวันเพ็ญ เงาของดวงจันทร์ที่กระทบกับผิวน้ำ เรียบดังกระจกเงา แต่ดวงจิตของบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ฝึกจิต ฝึกสมาธิ สภาวะใจก็เป็นประดุจดั่งผืนน้ำที่มีคลื่น มีกระแสลม กระทบ เงาจันทร์กระเพื่อมจนไม่เป็นรูปเป็นร่างฉันใด แต่ใจของผู้ฝึก ผู้ปฏิบัติมาดีแล้ว จิตข้าพเจ้าในขณะนี้ราบเรียบ ประดุจผืนน้ำที่สงบนิ่ง เงาจันทร์ชัดเจน จิตข้าพเจ้านิ่งสงบ ไม่หวั่นไหว ประคับประคองอารมณ์ใจของเราไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวันเพ็ญสำคัญ ขึ้น 15 ค่ำอันเป็นคืนวิสาขบูชา ใจข้าพเจ้าเหมือนเงาผืนน้ำ ที่เรียบสงบ เงาจันทร์ กระจ่างชัดแจ้งสงบเย็นอยู่ภายใน ใจสบายผ่องใส กำหนดจิตอยู่กับความสงบ ความเบา ความละเอียด ความสบาย

น้อมใจของเราต่อไป กำหนดภาพของจันทร์อยู่กลางใจของเรา ภาพนิมิตของดวงจันทร์ มีแสงสว่างอบอุ่น เป็นกระแสสว่างสงบเย็น ภาพของดวงจันทร์ สะท้อนดวงใจ กลายเป็นแก้วใสขึ้น สว่างขึ้นภาพนิมิตจากดวงแก้วใส ปรากฏกลายเป็นเพชรระยิบระยับแพรวพราว กระแสสว่างของดวงแก้วใส เป็นกสิณจิต ที่ทอแสงสว่างเรืองรองสงบเย็น มีประกายระยิบระยับ บรรยากาศรายรอบตัวเราในขณะฝึกสมาธิ มีประกายระยิบระยับแพรวพราวพร่างพรายรายรอบ กายจิตของเรา ครอบคลุมอาณาบริเวณเป็นปริมณฑล ครอบคลุมแผ่ขยายสว่างเป็นประกายระยิบระยับ มีแต่กระแสของความสงบเย็น กระแสที่เราปรากฏในความระยิบระยับแพรวพราว ที่พร่างพรายรายรอบนั้น คือสภาวะสนามพลัง ของจิต ที่มีความเป็นทิพย์ครอบคลุมอยู่

กำหนดจิต กระแสใจของเราสงบเย็น ละเอียด เป็นสุข มีความเป็นทิพย์ทั่วอาณาบริเวณครอบคลุม ทรงอารมณ์ของเราไว้ ประคับประคองอารมณ์ความเป็นทิพย์ของเราไว้ ความรู้สึกความพร่างพราย ความเป็นทิพย์ ซึมซาบทั่วร่างกายธาตุขันธ์ที่เป็นกายเนื้อ เซลล์ทุกเซลล์ อวัยวะทุกส่วนทั่วร่างกายของเรา เป็นเพชร ระยิบระยับ กระดูกใสเป็นแก้วระยิบระยับ เลือด เนื้อ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อวัยวะทุกส่วน กล้ามเนื้อทุกส่วน ใสเป็นประกาย ระยิบระยับ เซลล์ทุกเซลล์เปล่งพลังงานเป็นแสงสว่าง จิตกำหนดลึกถึงระดับเซลล์ เซลล์ทุกเซลล์ เป็นเหมือนกับ ดวงแก้ว ระยิบระยับแพรวพราว ในอนุภาคที่เล็กที่สุด ก็เห็นเป็นดวงแก้วระยิบระยับแพรวพราว กายเนื้อและจิตมีแต่ความเป็นทิพย์ มีแต่ความเป็นเพชรระยิบระยับสว่างพร่างพราย กระแสพลังงานจากทั้งธาตุขันธ์ และดวงจิต ก่อให้เกิดสภาวะกระแสพลังงานความเป็นทิพย์รายรอบห้อมล้อมอยู่ ใจสบาย ผ่องใส ทรงกำลังใจของเราไว้ ทั้งกาย และจิตปล่อยวาง ว่าง บาง เบา มีแต่ความผ่องใส มีแต่ความเป็นทิพย์ กลั่นกายธาตุขันธ์ให้สว่างกลายเป็นทิพย์ กลายเป็นแก้วระยิบระยับ จิตกลั่นจิตของเราให้ใสขึ้น สว่างขึ้น สงบเย็นขึ้น เปี่ยมพลังขึ้น มีแต่สภาวะของความเป็นทิพย์ มวลบรรยากาศ กระแสพลังงานที่รายรอบกายและจิตของเรา เกิดคลื่น เกิดสนามพลังงานของความเป็นทิพย์ แผ่ออก ขยายออก กายและจิตเปี่ยมพลัง สว่างพร่างพรายระยิบระยับ ทรงอารมณ์ไว้ ทรงอารมณ์ฌานไว้ ทรงสภาวะ อารมณ์จิตไว้ ทั้งเห็นด้วยความเป็นทิพย์ของจิต ทั้งสัมผัสได้ถึงพลัง ถึงความสว่าง ถึงกระแสของสภาวะความเป็นทิพย์ หยั่งถึงพลังงาน หยั่งถึงความสะอาดบริสุทธิ์ ความตั้งมั่นของจิต กายใจสบาย สงบ ผ่องใส สะอาด สงบ สงัดจากความโลภ โกรธ หลง จากเรื่องราว จากความทุกข์ทั้งหลาย

กำหนดน้อมให้ใจของเรา ยิ่งแย้ม ยิ่งผ่องใส ยิ่งเบิกบาน จิตเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานในกระแสธารแห่งธรรมะ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอน ยิ่งวาง ยิ่งว่าง ยิ่งเบา ยิ่งสงบ ยิ่งสงบยิ่งผ่องใส กายใจอิ่มเอม เปี่ยมกระแสของพลัง ทรงอารมณ์จิตของเราไว้ จากนั้นน้อมจิตพิจารณา ปล่อยวาง ตัดร่างกาย ขันธ์ 5 พิจารณากำหนดรู้ด้วยจิต ด้วยความเป็นทิพย์ ว่าร่างกายกายเนื้อ อันได้แก่ร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อาการ 32 ธาตุทั้ง 4 ที่มารวมตัวกันเป็นกายเนื้อนี้ นั้นไม่ใช่ตัวเราของเรา เราคือดวงจิตหรืออาทิสมานกายที่มาอาศัยร่างกายเนื้ออยู่ พิจารณาปล่อยวางขันธ์ 5 พิจารณา โดยละเอียดลึกซึ้งขึ้น รูปคือกาย เวทนาคือ ความรู้สึกที่เนื่องด้วยกาย อันได้แก่ความรู้สึกทางร่างกาย เย็นร้อน อ่อนแข็ง สัญญาความจำที่ถูกบันทึกไว้ในสมอง ความจดจำสังขารขันธ์ที่เชื่อมโยงกับอายตนะทั้ง 5  วิญญาณความรู้สึกที่ส่งผ่าน เป็นกระแสไฟฟ้า เป็นคลื่นจากสิ่งที่กระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผ่านเข้าไป จนเกิดการปรุงแต่ง

กำหนดจิต ละ ปล่อยวางความเกาะ ความยึดในขันธ์ทั้ง 5 นั้น พิจารณาว่าเมื่อเราอยู่ในสภาวะของความเป็นจิตหรือ อาทิสมานกายแล้ว สิ่งที่ปรากฏขึ้นคือธาตุรู้ รู้ด้วยความเป็นทิพย์ รู้สึกสัมผัสด้วยความเป็นทิพย์ ไม่ได้เนื่องกับร่างกายขันธ์ 5 อีกต่อไป ร่างกายขันธ์ 5 เรามองเห็น 178 องศา แต่จิตความเป็นทิพย์สามารถรู้สึก รู้ในภาพที่ปรากฏได้ทั้ง 360 องศา โดยรอบตัวและด้านบนด้านล่าง ไม่มีจุดบอดใดๆ ไม่มีจุดอับใดๆ ความรู้ของจิตไม่อาจโกหกได้ คำพูดจากปาก ของมนุษย์ โกหกได้ แต่คลื่นที่ออกมาจากจิต ไม่สามารถโกหกกันได้ สิ่งที่รู้โดยธาตุรู้ของจิตมันมีความแตกต่างกันกับ สิ่งที่เป็นเครื่องรู้จากร่างกายขันธ์ 5 จิต อาทิสมานกาย ในความเป็นทิพย์ สามารถสัมผัส รู้เห็นในภพภูมิที่มีความละเอียด ตั้งแต่ระดับชั้นของวิญญาณ โอปปาติกะ สัมภเวสีขึ้นไปจนกระทั่งถึงเทวดา พรหม จนถึงพระนิพพาน แต่กายของมนุษย์ กำหนดรู้เห็นได้ยินเสียงในขีดจำกัดของสภาวะที่มีรูปกาย

ดังนั้นเรากำหนดคิดพิจารณาว่า อันที่จริงแล้ว ขีดจำกัดของ อภิญญาจิต ก็คือการที่เรายังมีกายเนื้อนี้อยู่ ยิ่งตัด ร่างกาย ยิ่งรู้เท่าทันสภาวะที่เราไปเกาะอยู่กับขีดจำกัดของความรู้ การรู้เห็นด้วยกายเพียงอย่างเดียวนั้น จึงนับว่าตื้น เขินอย่างยิ่ง เป็นข้อจำกัดอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาได้ดังนี้แล้ว ก็พิจารณาต่อไปอีกว่า และก็ด้วยความไม่รู้ ความเกาะ ความยึดในขันธ์ 5 ร่างกายเนื้อนี้แหละ ที่ทำให้เรารู้สึกยึดมั่นถือมั่น เป็นเจ้าของในวัตถุธาตุทั้งหลาย ในสิ่งของทั้งหลาย ในบุคคลทั้งหลาย ไปกำหนดยึดมั่นถือมั่นเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ หรือแม้แต่ความรู้สึกที่เราต้องยากลำบากในการหาเลี้ยง ชีพ หาอาหารที่มีรสอร่อย หารูปที่มีความสวยงาม หาคำชม หาคำสรรเสริญให้กับกาย ให้กับร่างกายนี้ เมื่อไหร่ก็ตาม ที่เราไม่มีขันธ์ 5 ไม่มีร่างกาย สิ่งต่างๆที่เป็นทรัพย์สมบัติ ทรัพย์สิน เงินทองบุคคลทั้งหลาย ก็ไม่มีความหมายกับเรา อีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พิจารณาว่าเมื่อไหร่เราตายไป ทรัพย์สิน ทุกอย่าง สมมุติทุกอย่าง บุคคลทั้งหลาย เรื่องราวทั้งหลายก็จบลง สมมุติทั้งหลายก็สิ้นลง ความเป็นเจ้าของทั้งหลาย ก็หมดกรรมสิทธิ์ไป เพราะแม้แต่ร่างกายที่เคยเป็นกายเนื้อเรา เราก็บังคับควบคุมมันไม่ได้ เป็นเหมือนกับท่อนไม้ อันปราศจากประโยชน์ใดๆ รอการผุพังเน่าสลาย เป็นปฏิกูล เป็นอสุภะตามสภาวะ ตามธรรมชาติแห่งความเสื่อม ความเน่าสลายไปในที่สุด พิจารณาจนจิตมีความปล่อยวางจากความเกาะในร่างกาย มาปรากฏในสภาวะของจิตที่มีความผ่องใส จิตยอมรับตามความเป็นจริง ที่พระพุทธองค์ ทรงตรัสสอน ทุกสรรพสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ตามกฎพระไตรลักษณ์ พิจารณาจนจิต น้อมยอมรับตามความ เป็นจริง แล้วจึงกำหนดจิตเป็นประกายพรึกสว่างเป็นเพชรระยิบระยับ กำหนดกระแสความเป็นทิพย์ สว่าง พร่างพราย รายรอบห้อมล้อมทั่ว 

จากนั้นกำหนดจิตรำลึกนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า กำหนดภาพพุทธนิมิตของพระพุทธองค์ขึ้นกลางดวงจิต สว่างผ่องใส ตั้งใจอาราธนาบารมีพระพุทธองค์ทรงสงเคราะห์ ขอจงได้ยกอาทิสมานกายของข้าพเจ้าขึ้นไปบน พระนิพพาน ที่วิมานของสมเด็จองค์ปฐม ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้ด้วยเทอญ กำหนดน้อมจิตพุ่งขึ้นไป อาราธนาขอให้ ปรากฏมหาสมาคม คือการประชุมของพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระอรหันต์ ทุกพระองค์บนพระนิพพานเสด็จมาด้วยความเป็นทิพย์ กำหนดน้อมจิต ขอบารมีพระพุทธองค์ทรงสงเคราะห์        ขอ อาทิสมานกายข้าพเจ้า จงปรากฏเป็นกายแห่งพระวิสุทธิเทพ มีความสว่าง มีความผ่องใส กายทิพย์สว่างระยิบระยับ น้อมจิตกราบทุกท่านทุกพระองค์บนพระนิพพาน

เมื่อน้อมจิตกราบแล้ว จึงกำหนดจิตต่อไป อธิษฐาน เนื่องจากวันนี้เป็นวันวิสาขบูชา วันที่พระพุทธองค์ ทรงเสด็จประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพาน ขอกำลังแห่งพุทธบารมีของพระพุทธองค์ ทรงสงเคราะห์ ขอให้ข้าพเจ้าเห็นภาพ อตีตังสญาณ ย้อนไปในวันวิสาขบูชา ขอจงได้เห็นภาพ เห็นเหตุการณ์ นับตั้งแต่พระพุทธองค์ทรงเสด็จประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานด้วยเถิด น้อมใจกำหนดดู พิจารณาให้เห็นพระพุทธมารดาทรงมีพระประสูติกาล พระราชโอรส เจ้าชายสิทธัตถะในป่า กำหนดน้อมให้เห็นภาพเหตุการณ์ตามความเป็นจริง รวมถึงสภาวะความเป็นทิพย์ ว่าในขณะที่พระพุทธมารดาทรงคลอด คลอดอย่างง่ายดาย ไม่มีความเจ็บปวด ในขณะเดียวกันน้อมจิตพิจารณาเห็น ความเป็นทิพย์ ว่ามีเทวดา พรหม เสด็จมารับรู้ เสด็จมาดูแล เสด็จมาสงเคราะห์ พระกุมาร พระโพธิสัตว์เป็นจำนวน มากมายเท่าไหร่ เห็นพิจารณาในความเป็นทิพย์ ว่าพญานาคทั้งหลาย ผุดขึ้นมาดูแลจากดินมากเท่าไหร่ เมื่อพระกุมาร คลอดแล้ว ไหลจากพระครรถ์อย่างง่ายดาย จากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนิน เดินทั้งหมด 7 ก้าว กำหนดน้อมพิจารณา ให้เห็นคติว่าทั้ง 7 ก้าวนั้น เป็นคติว่า ท่านจะเสด็จแสดงธรรมในทวีปทั้ง 7 และทั้ง 7 ก้าวนั้น ในขณะที่เสด็จ พระราชดำเนินแต่ละย่างก้าว ก็ปรากฏดอกบัวแก้วผุดรองรับพระบาทของพระโพธิสัตว์ พระกุมารน้อย ใจเราก็น้อมพิจารณากราบ พระพุทธองค์ได้เสด็จปรากฏเป็นพระประทีปแก้วในโลก ในจักรวาลแล้ว เทวดา พรหมทั้งหลายก็ต่าง โมทนาสาธุการ ทำนุบำรุงพระราชกุมารพระโพธิสัตว์ ในทุกเวลา จิตเราก็น้อมโมทนาสาธุ หลายๆท่าน เทวดา พรหม หลายท่านนั้น ในขณะนี้ก็ยังทรงเสวยทิพยสมบัติอยู่

น้อมจิตพิจารณาต่อไป ขอให้ภาพเหตุการณ์ ในขณะที่พระพุทธองค์ทรงกำลังจะเสด็จตรัสรู้ธรรม โมกขธรรม เข้าสู่ความเป็นพระพุทธเจ้า น้อมจิตพิจารณาเห็นเหตุการณ์ย้อนไป ในการที่พระพุทธองค์เสด็จประทับนั่งบัลลังก์มี หญ้าคาที่มีบุคคลมาถวาย ได้ทรงเสวยข้าวมธุปายาส ที่นางสุชาดาได้นำมาถวาย จนมีกำลัง จิตเราน้อมซึมซับรับกระแส ความรู้สึกที่พระพุทธองค์ ในขณะที่ทรงเสวยข้าวมธุปายาส กายมีความเอิบอิ่ม มีความสบายขึ้น มีความเบาขึ้น มีความผ่องใส เมื่อกายมีพลัง มีความสบาย ใต้ต้นโพธิ์มีความร่มเย็น หญ้าคาที่วางปูก็มีความสบาย ไม่เมื่อยไม่ปวด พระพุทธองค์จึงทรงพิจารณา น้อมพิจารณาย้อนในการที่ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา

พิจารณาจนพบว่า การปฏิบัติที่ตึงเกินไปเป็นอัตตกิริยานุโยค หย่อนเกินไปยังไม่ใช่ทางแห่งมรรคผล เมื่อพระพุทธองค์ทรงวางกายอยู่ในความสบาย คือนั่งสบายอิริยาบถสบาย อยู่ในสถานที่สัปปายะ สบายร่มเย็น ได้ขบฉันภัตตาหารคือข้าวมธุปายาส จนกายมีความ สบาย เอิบอิ่มมีกำลัง จึงย้อนพิจารณา น้อมจิตรวมลงเข้าสู่ฌานสมาบัติซึ่งพระอาจารย์ของพระองค์เคยสอน เดินจิตเข้าสู่ อรูปสมาบัติ 8 เมื่อทรงฌานสมาบัติจนมีความตั้งมั่นเต็มที่ จึงพิจารณา จิตพระองค์ท่านก็ปรากฏญาณทั้ง 8 อตีตังสญาณบุพเพนิวาสานุสติญาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อารมณ์จิตของพระองค์ท่าน ย้อนอดีตมากมายมหาศาลทุกภพชาติ ซึ่งใน ขณะที่ดวงจิตของพระพุทธองค์ทรงย้อนกาลเวลาระลึกชาติทั้งหมด บารมีทั้ง 4 อสงไขย กำไรแสนกัป ก็กลับมารวมกัน อีกครั้งหนึ่ง กรรมฐานทั้งหลายที่พระองค์เคยฝึก เคยปฏิบัติมา นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าหลายๆพระองค์ ที่พระโพธิสัตว์ ได้เสวยพระชาติมาพบ มาปฏิบัติ ก็รวมตัวกันอีกครั้งหนึ่ง ญาณทุกอย่างปรากฏ บารมีทุกอย่างรวมตัว ส่งผล จนจิตของ พระพุทธองค์ ปรากฏการตรัสรู้แจ้งขึ้น เห็นทุกข์ เห็นโทษภัย เห็นสัจธรรม เห็นภัย เห็นภาพแห่งสังสารวัฏ การเวียนว่าย ตายเกิดทั้งหลาย ภาพเหตุการณ์ทุกอย่างมากมายมหาศาล เป็นกระแสญาณที่มีภาพของทุกชาติภพปรากฏ กระแสจิต ของพระพุทธองค์ก็ทรงตัดสรรพกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน รู้แจ้งในธรรมทั้งปวง  ปรากฏซึ่งความเป็นสัมมาสัมโพธิญาณ รู้แจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งหลายด้วยตนเอง ปรากฏสภาวะความเป็นพระพุทธเจ้า ปรากฏขึ้น อุบัติขึ้นบนโลก เหล่าเทพ พรหมเทวดาทั้งหลาย ก็สรรเสริญแซ่ซ้อง โปรยดอกไม้ทิพย์ รวมทั้งดวงจิตของพระพุทธองค์ในขณะตรัสรู้ ก็ก่อให้เกิด พลังงานมหาศาล หมื่นแสนโลกธาตุสะท้านสะเทือน เกิดแสงสว่างปรากฏขึ้น ทั่วทุกภพภูมิ ทั่วจักรวาล โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง แม้แต่ภพที่มืดมิดที่สุดคือโลกันตนรก ก็ยังปรากฏแสงสว่าง ในยามที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ อรูปพรหม ทั้งหลายก็ปรากฏมีแสงสว่าง ทะลุทะลวงเข้าสู่ดวงจิตของอรูปพรหมทั้งหลาย ที่ปิดอายตนะอยู่บนอรูปพรหม ส่วนเทวดาพรหมทั้งหลาย พญานาคทั้งหลาย ภพภูมิทั้งหลายก็ต่างโมทนา พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว จากนั้นพระพุทธองค์จึงเสด็จพิจารณาทบทวนเสวยวิมุตติสุข ต่อกันอีก 7 วัน เราก็น้อมกราบโมทนาสาธุ ในขณะที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ ขอญาณเครื่องรู้ ขอกระแสพลังงาน กระแสจิต กระแสบุญบารมีที่รวมตัวกันของพระพุทธเจ้า ขอน้อมรวมลงสู่จิตสู่ใจของเราด้วยเช่นกัน น้อมใจของเราให้ผ่องใสสว่าง

จากนั้นเราก็น้อมจิตพิจารณา ย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ในขณะที่เป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน ในขณะนั้น พระพุทธองค์ทรงอยู่ในอิริยาบถสีหไสยาสน์ ห้อมล้อมด้วยพระสาวก ห้อมล้อมด้วย หมู่กษัตริย์ และพุทธศาสนิกชน ที่มาเข้าเฝ้าในขณะที่พระพุทธองค์กำลังจะทรงปรินิพพาน ภายในป่าใต้ต้นรังคู่ จิตในความเป็นทิพย์ของเรา น้อมพิจารณาให้เห็นเทวดาพรหมทั้งหลาย ที่เสด็จมามากมายมหาศาล หมวดหมู่กายทิพย์ รุกขเทวดา ภุมมเทวดา พญานาค มาปรากฏรายล้อมด้วยมากมายเช่นกัน มวลหมู่แม้แต่เทวดา พรหมก็มีความโศกเศร้า มีความ เสียใจ บรรยากาศในสถานที่แห่งนั้น เงียบสงบ หดหู่เป็นอย่างยิ่ง แม้แต่พระอานนท์พุทธอนุชา ผู้ที่เป็นพุทธอุปัฏฐากดูแลพระพุทธองค์ ก็ยังอดหลั่งน้ำตาร้องไห้ไม่ได้ แม้แต่จอมกษัตริย์ทั้งหลายที่เสด็จมา รอเข้าเฝ้าในวันเสด็จปรินิพพาน ก็ล้วนแต่เศร้าโศกเสียใจ

เราน้อมจิตพิจารณา พระพุทธองค์ท่านทรงตรัส เล็งเห็นกระแสใจของทุกคนเสียใจ ท่านก็ทรง เมตตาตรัสเป็นปัจฉิมพระวจนะคำสุดท้ายว่า ขอให้เธอทั้งหลาย จงอย่าได้ประมาทในการทั้งปวง ซึ่งความหมาย ในความไม่ประมาทในการทั้งปวง มีความหมายที่ครอบคลุมลึกซึ้งทั้งสิ้น ครอบคลุมในการปฏิบัติทั้งหมด ไม่ประมาท หมายความครอบคลุมถึงไม่ประมาท พระพุทธองค์มีบุญ มีบารมีอย่างยิ่ง ยังต้องเสด็จดับขันธปรินิพพาน ถ้าพูดเป็น ภาษาปกติ ก็คือท่านเป็นพระพุทธองค์ก็ยังต้องตาย เราอย่าประมาท อย่าไปคิดว่าเราจะไม่ตาย อย่าประมาทใน ความตายเป็นประการที่ 1  ประการที่ 2 ท่านทรงห่วงนายฉันทะที่เป็นมหาดเล็กคู่พระทัย และติดตามออกบวช แต่มี ความประมาทอย่างยิ่ง ไม่ยอมปฏิบัติธรรม ท่านก็สั่งให้พระมหากัสสปะ สั่งให้พระเถระ กระทำปัพพาชนียกรรม คือไม่สนทนา ไม่เสวนาด้วยทั้งสิ้น เป็นการทรมานเพื่อให้พระฉันทะ หันหวนมาปฏิบัติไม่ถือตัวถือตน ว่าเป็นคนสนิท อยู่ร่วม ตั้งแต่พระพุทธองค์ทรงเสด็จออกบวช ความไม่ประมาทต่อมาก็คือ ท่านทั้งหลายจงอย่าประมาท จงทำพระนิพพานให้ แจ้ง ซึ่งคำสอนที่ครอบคลุมใน อย่าได้ประมาทในการทั้งปวง ในความหมายนี้คือความหมายที่ท่านทรงตรัสมายังเรา แม้แต่เราในยุคปัจจุบัน จงอย่าประมาทในการทำพระนิพพานให้แจ้ง ขอเราทุกคนจงน้อมกระแสปัจฉิมโอวาทนี้ รวมลงสู่จิตสู่ใจของเราทุกคน ให้ดังกึกก้องภายในจิต สั่นสะเทือนกายทิพย์

ให้กำหนดรู้ว่า เราลงมาเกิดเพื่อทำ พระนิพพานให้แจ้ง น้อมใจของเราให้ลึกซึ้ง หยั่งลึกลงสู่กระแสธรรม ใจเราผ่องใส รู้ตื่นชัดเจน จงทำพระนิพพานให้แจ้ง เมื่อน้อมใจ จิตของเรา เข้าใจในปัจฉิมโอวาทของพระพุทธองค์แล้ว เราก็น้อมดูภาพเหตุการณ์ต่อไป เมื่อเสด็จตรัสในปัจฉิมโอวาทแล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงหลับตาลง เริ่มทรงตั้งจิตปลงสังขาร และเริ่มเดินจิตในฌาน เข้าฌานที่ 1 2 3 4 อรูปฌานคือฌานที่ 5 6 7 8 แล้วจึงถอยจิตลงมาสู่ฌานที่ 7 ฌานที่ 6 และเมื่อจิตเคลื่อนอยู่ตรงกลางระหว่างฌานที่ 5 และฌานที่ 4 ก็ทรงพิจารณาในกฎพระไตรลักษณ์และดับขันธปรินิพพาน ยกจิตขึ้นไปบนพระนิพพาน ในเหตุการณ์ครั้งนั้น ก็มีพระเถระผู้เป็นเลิศทางด้านทิพยขุญาณ ตามกำหนดรู้ในจิตของพระพุทธองค์ เมื่อทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน และพระเถระได้ทรงประกาศว่า พระพุทธองค์ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ในขณะนั้น ทั่วหมื่นแสนโกฏิจักรวาล ก็ล้วน แต่มีกระแสแห่งความโศกเศร้า มีกระแสแห่งความโทมนัส เสียใจอย่างยิ่ง เทวดาทั้งหลาย โปรยปรายดอกไม้ ทิพย์ลงมา เป็นการบูชาพระพุทธองค์เป็นครั้งสุดท้าย กระแสของใจคนในขณะนั้นมีแต่ความเศร้าโศก

เราก็น้อมจิต ใช้อาทิสมานกาย ญาณเครื่องรู้ กราบแทบเบื้องพระบาทของพระพุทธองค์ ใจเราน้อมกราบ พระพุทธเจ้าทรงปรากฏ พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ พระพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน ในวันวิสาขะ  จิตของเราน้อม รำลึกถึง ตั้งใจปฏิบัติเป็นพุทธบูชาในวันวิสาขบูชานี้ และเราก็น้อมนำ คำสอนสุดท้ายปัจฉิมโอวาทของพระพุทธองค์ น้อมรวมสู่ใจของเรา ไม่ประมาทในการทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ประมาทที่จะทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาติ ปัจจุบัน น้อมใจของเราให้ผ่องใสสว่าง

จากนั้นจึงยกจิตอาทิสมานกายของเรา ย้อนกลับขึ้นไปบนพระนิพพาน ไปกราบแทบเบื้องพระบาทของ พระพุทธเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน กราบด้วยความนอบน้อม ด้วยความซาบซึ้งใน พระมหากรุณาธิคุณ พระเมตตาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ ที่มีต่อหมวดหมู่เวไนยสัตว์ทั้งหลาย น้อมจิตกราบพระพุทธเจ้า องค์ปัจจุบันด้วยความนอบน้อม ด้วยความเคารพ ด้วยความซาบซึ้ง ใจของเรากราบ ใจของเรามอบกายถวายชีวิตต่อ พระพุทธเจ้า จิตของเราตั้งมั่นอยู่กับพระนิพพานเป็นที่สุด

จากนั้นกำหนดจิตต่อไปนะ จดจ่ออยู่กับพระพุทธเจ้า จิตแนบอยู่กับพระนิพพาน จิตไม่สนใจ ไม่หวั่นไหว ไม่เกาะเกี่ยวอยู่กับภพใดภูมิใดอีกต่อไป ตามเสด็จพระพุทธองค์เข้าถึงซึ่งพระนิพพานเพียงจุดเดียว จิตเราตั้งใจว่าเรา ปฏิบัติบูชาในวันวิสาขะวันนี้ จิตของเรามีความสะอาด มีความสงบ มีความละเอียดอย่างยิ่ง ญาณเครื่องรู้ที่เรารับรู้ ดูใน อตีตังสญาณ มีความชัดเจน กระจ่างแจ้งในเหตุการณ์ กระจ่างแจ้งในกระแสธรรมอย่างยิ่ง ปฏิบัติบูชาของข้าพเจ้า ทั้งหลายนั้น บริสุทธิ์ เจตนาในการปฏิบัติของข้าพเจ้านั้นบริสุทธิ์ ทรงอารมณ์จิตพระนิพพาน กำหนดเห็นกาย            พระวิสุทธิเทพของเรา เป็นแก้วสว่างใส ขัดสมาธิ ปฏิบัติ ทรงอารมณ์อุปสมานุสติ คือทรงอารมณ์พระนิพพาน จิตตั้งมั่นในพระนิพพาน จิตรักในพระนิพพาน เป็นหนึ่งเดียวกับพระนิพพาน นิพพานัง ปรมังสุขัง พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง จิตข้าพเจ้าแจ้งกับพระนิพพาน รู้แจ้งกับพระนิพพาน นิพพานัง ปรมังสุขัง พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ทรงอารมณ์ความผ่องใสของจิตไว้ สว่าง จิตเกิดธรรมปิติ จิตยินดีในพระนิพพาน ญาณเครื่องรู้ หยั่งรู้ เห็นภพภูมิต่างๆ สวรรค์ทั้งหลายก็มีการเวียนเทียน ที่พระจุฬามณีก็มีการเวียนเทียนของเทวดานางฟ้า ที่พรหมโลกก็มีการเจริญจิตสมาธิ ที่เทวสภาก็มีพระโพธิสัตว์มาแสดงธรรม ที่บนโลกมนุษย์เทวดาทั้งหลาย ก็ล้วนแต่มาโมทนาสาธุแซ่ซ้องกับพุทธศาสนิกชน คนดีทั้งหลายที่เข้าวัดปฏิบัติธรรม ฟังศีล ฟังธรรม ถือศีล บ้างก็บวช บ้างก็ สวดมนต์ บ้างก็ภาวนา บ้างก็เวียนเทียนสักการะ เทวดาพรหมทั้งหลายโมทนาสาธุ หรือแม้แต่ตัวเราที่มาปฏิบัติ ก็จงหยั่งรู้ถึงเทวดาพรหมมากมาย ที่มาปกปักรักษากายเนื้อ มาโมทนากับเรา กำลังบุญ กำลังกุศล ยิ่งเกิดกำลังแผ่ขยาย

น้อมจิตอาราธนาบารมีพระ ขอบารมีสมเด็จองค์ปฐมทรงเป็นประธาน ขอน้อมกระแสจากพระนิพพานส่งตรงลงมายัง โลกมนุษย์ ยังวัดวาอารามทั้งหลาย สถานปฏิบัติธรรมทั้งหลาย พระธาตุเจดีย์ มหาธาตุ พระมหาธาตุ พระบรมธาตุเจดีย์ ทั้งหลาย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ในพระพุทธศาสนา ขอกระแสจากพระนิพพาน จงแผ่ จงส่งลงมา ขอกระแสจาก พระนิพพาน ขอกระแสธรรมะบริสุทธิ์ โลกุตรธรรมจากพระนิพพาน จงส่งตรงลงมายังพุทธบริษัท 4 ขอจงส่งตรงลงยัง ดวงจิตทั้งหลาย ขอจงปรากฏผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ทั้งภิกษุสามเณร ทั้งแม่ชี ทั้งอุบาสกอุบาสิกา ทั้งฆราวาส ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งปวง ขอจงมีกระแสแห่งโลกุตรธรรม ขอจงมีกระแสแห่งมรรคแห่งผล ขอจงมีกระแสธรรมอันเป็น สัมมาทิฏฐิ จงหลั่งไหลลงสู่จิตสู่ใจของพุทธบริษัททั้งปวง เพื่อเข้าสู่ยุคแห่งชาววิไลผู้มีกำลังใจสูงในธรรมะ ขอน้อมกระแสลงมา ขอกระแสบุญจงส่งผล ขอกระแสแห่งวิมุติจงปรากฏขึ้น ขอสายทรัพย์ สายสมบัติ สายบารมีของข้าพเจ้าทั้งหลาย จงรวมตัวกัน น้อมใจให้สว่างผ่องใส กระแสบุญเราน้อมลงมา ให้บุคคลทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติ ผู้สักการะบูชา ผู้มีใจเป็นกุศล จงได้รับอานิสงส์ ทบเท่าทวีคูณ เพิ่มพูนเต็มกำลัง เราช่วยกันน้อมกระแสจากพระนิพพานลงมา ช่วยกันอธิษฐานให้ ผู้ปฏิบัติธรรมได้มีความก้าวหน้า รุดหน้าเจริญในธรรมสูงยิ่งขึ้นไปทุกคน ขอให้ทุกท่านได้มีบุญบารมีเจอครูบาอาจารย์ ผู้เป็นสัมมาทิฏฐิ ครูบาอาจารย์ผู้มีกุศโลบาย มีความรู้ในการถ่ายทอด สั่งสอนให้บุคคลทั้งหลายเข้าถึงกุศลความดี เข้าถึงธรรม ก้าวหน้ารุดหน้าโดยถ้วนทั่ว น้อมใจของเรา จิตเป็นกุศล จิตเป็นบุญ บุญส่งผล บารมีรวมตัว จิตผ่องใส ธรรมะก้าวหน้า เจริญรู้แจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งปวง

จากนั้นจึงน้อมจิตกราบพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระอรหันต์ทุกๆพระองค์ บนพระนิพพาน น้อมจิตกราบเทพพรหมเทวา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ท่านผู้มีพระคุณทุกท่าน ในทุกภพทุกภูมิ ใจของเรามีความนอบน้อม มีความเคารพ จิตเชื่อมกระแสกับครูบาอาจารย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้เป็นสัมมาทิฏฐิโดยตรง จิตของเราผ่องใสอย่างยิ่ง บริสุทธิ์อย่างยิ่ง บุญในวันวิสาขบูชาเป็นบุญใหญ่อย่างยิ่ง จิตเราน้อมอยู่ในกระแสทั้งกำลังฌาน กำลังวิมุติ กำลังความบริสุทธิ์ของจิต เต็มกำลัง เมื่อกราบลาแล้ว จึงกำหนดน้อมโมทนาสาธุกับเพื่อนๆที่ ปฏิบัติธรรมทุกคน วันนี้ถ้าเป็นไปได้ก็พยายามเขียนแผ่นทองอธิษฐานพระนิพพาน ตั้งจิตตั้งใจอธิษฐานเป็นพิเศษ แล้ว ก็น้อมจิต ว่าขอบุญที่เราน้อม ที่เราฝึก ที่เราปฏิบัติ จงทำให้เป็นกำลังสม่ำเสมอ จนเกิดความรู้แจ้งในพระนิพพาน อย่างแท้จริง ชาตินี้ไปนิพพานได้อย่างแน่นอน ใจผ่องใส โมทนาสาธุกับเพื่อนที่มาปฏิบัติธรรมร่วมกันในวันนี้ทุกคน รวม ถึงผู้ที่มาฝึก มาฟังทีหลัง ในธรรมะในวิสาขบูชานี้ สำหรับวันนี้ก็ขอโมทนาสาธุกับทุกคน เราค่อยๆถอนจิตช้าๆ หายใจเข้าลึกๆ หายใจเข้าพุท ออกโธ หายใจเข้าลึกๆช้าๆครั้งที่ 2 ธัมโม หายใจเข้าลึกๆช้าๆ ครั้งที่ 3 สังโฆ จากนั้นแผ่เมตตาสว่างไปทั่วอนันตจักรวาล ทุกภพทุกภูมิ สามไตรภูมิ หนึ่งพระนิพพาน บุญจงสำเร็จยังทุกรูปทุกนามถ้วนทั่วไม่มีประมาณ จิตข้าพเจ้าจงผ่องใส จิตข้าพเจ้าจงเปี่ยมเมตตา จิตข้าพเจ้าจงเป็นสุข ใจเบาละเอียด สำหรับวันนี้ก็โมทนากับทุกคนนะครับ พบกันใหม่สัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้สวัสดีครับ

ถอดความและเรียบเรียงโดย : คุณวรรณภา

You cannot copy content of this page