เสียงธรรมจากห้อง “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน”
วันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน 2567
เรื่อง วางให้ลง ปลงให้เร็ว
โดย อาจารย์ คณานันท์ ทวีโภค
กำหนดสติในความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ผ่อนคลายร่างกายกล้ามเนื้อทุกส่วน พร้อมกับความรู้สึกที่เราปลดปล่อยปล่อยวาง ความเกาะเกี่ยวความยึดในร่างกายในขันธ์ห้าทั้งหมดออกไป ผ่อนคลายปล่อยวาง
จากนั้นมากำหนดที่ความรู้สึก ความคิด ปล่อยวางความกังวลความวิตก ความห่วงความเกาะเกี่ยวในบุคคลทั้งหลาย ในกิจการงานหน้าที่ทั้งหลาย ปล่อยวางทั้งกายและจิต เมื่อปล่อยวางทั้งกายและจิตแล้วก็กำหนดรู้ ยิ่งเราฝึกปล่อยวางได้มากเท่าไร เราก็สามารถที่จะปลง
การปลงก็คือปลงใจที่จะปล่อยวางที่จะไม่เกาะ ที่ไม่จะมาคิดมาเกาะให้เป็นอารมณ์ให้เป็นความทุกข์ ปล่อยวางออกไปจากใจ ปล่อยวางจากความรู้สึกที่เป็นห่วง วางทั้งกายและจิต เมื่อวางลงจนหมด ก็เหลือแต่ความสงบความสบายของจิตใจ ความสุขของจิต ความสุขจากสมาธิ เป็นความสุขจากการปล่อยวาง ก็คือ วางภาระความหนักอกหนักใจทั้งหลายความกังวลทั้งหลายออกไป ดังนั้นยิ่งวางก็ยิ่งเบา ยิ่งวางยิ่งสงบ เพราะเหตุที่ว่าเมื่อปล่อยวางแล้ว ใจเราไม่มีความคิดฟุ้งปรุงแต่ง ใจเราไม่มีความกังวลที่เป็นปลิโพธ ดังนั้นทั้งปลิโพธและนิวรณ์ห้ามันถูกสลายจากใจ มันก็เหลือแต่ความสุขความสงบของสมาธิ วางให้หมด “วางให้ลง ปลงให้เร็ว” วางออกไปจนเหลือแต่ความสงบของสมาธิ
จากนั้นจึงมาจดจ่ออยู่กับลมหายใจสบาย จินตภาพเห็นลมหายใจเป็นเหมือนกับแพรวไหม พลิ้วผ่านเข้าออก ไหลเวียนต่อเนื่องตลอดสายตลอดทั้งกองลม ลมหายใจที่เราหายใจเข้าออก กำหนดน้อมจิตให้เป็นปราณเป็นพลังชีวิตเสริมเติมเข้าไปในขันธ์ห้าร่างกายของเรา อยู่กับลมหายใจสบาย อยู่กับความสงบ ลมหายใจยิ่งเบา ยิ่งละเอียด จิตยิ่งสงบเย็นเข้าถึงสมาธิ วางภาระทั้งหลายออกไปจากใจ จดจ่ออยู่กับความสงบเย็น จดจ่ออยู่กับกระแสของลมหายใจที่ลื่นไหลตลอดสาย ยิ่งลมหายใจเบาละเอียด จิตยิ่งสงบ ลมหายใจที่ละเอียดก็คือลมหายใจนั้น มีความเบา ไม่มีอาการสะดุด ราบลื่นละเอียด ลมหายใจที่เรารู้สึกว่าเหมือนกับเป็นสายเป็นมวลลม เมื่อเข้าถึงลมละเอียด ลมนั้นก็จะกลายเป็นอนุภาค คือมีสภาวะที่กลั่นของลมจนกลายเป็นอนุภาคที่ละเอียด มีความเป็นเหมือนกับกากเพชรระยิบระยับแพรวพราวละเอียด
เมื่อกลั่นลมหายใจนั้นจนกลายเป็นปราณที่ละเอียด ปราณนั้นก็เป็นเหมือนกับธาตุทิพย์ที่เข้ามาเยียวยา เข้ามาฟื้นฟู เข้ามาบำรุงธาตุขันธ์ เข้ามาบำรุงจิตของเรา อยู่กับลมหายใจที่ละเอียด กลั่นลมหายใจเป็นชี่ เป็นปราณ เป็นพลังชีวิต เป็นแก้วระยิบระยับ ทรงอารมณ์ ทรงสภาวะที่จิตจดจ่ออยู่กับลมหายใจละเอียดต่อเนื่อง ไม่หลุด ไม่หวั่นไหว เห็นลมหายใจพลิ้วผ่านเข้าออกต่อเนื่อง ลมหายใจละเอียดก็รู้ว่าละเอียด ลมหายใจมันเบาช้าสงบก็รู้ว่าเบาช้าสงบ เราไม่ได้บังคับลมหายใจ เราเป็นผู้กำหนดดูกำหนดรู้ในลมหายใจ มันจะช้าจะเบาก็ปล่อยเขา เห็นเพียงอนุภาคของกระแสลมหายใจที่เป็นประกายพรึกเป็นเหมือนกับกากเพชรระยิบระยับ หายใจเข้าออกเป็นอนุภาคเป็นธาตุที่ละเอียด ธาตุลมเป็นเหมือนกับประกายเพชรประกายพรึกระยิบระยับ ทรงอารมณ์อยู่กับการจับในลมหายใจที่เป็นปราณ เราทรงสมาธิอานาปานสติทั้งทีก็กำหนด กลั่นลมหายใจให้เป็นพลังชีวิตให้เป็นปราณ สัมผัสได้ถึงอนุภาคของลมหายใจที่เป็นทิพย์ ที่หลั่งไหลเข้ามาหล่อเลี้ยงภายในกายในธาตุขันธ์นี้ จิตเบาสบายสงบ จิตเข้าถึงอุเบกขารมณ์ หยุดการปรุงแต่ง หยุดการซัดส่าย หยุดการส่งจิตออกไปคิดไปพะวงถึงสิ่งที่อยู่ภายนอก ที่เป็นเรื่องของ ความทุกข์ ความโกรธ ความโลภ ความหลง ความรัก จิตอยู่กับลมภายใน
เมื่อทรงอารมณ์จนเกิดจิตตานุภาพแห่งอานาปานสติและปราณได้ก่อเกิดขึ้น เรากำหนดจิตต่อไปว่าเราหยุดจิต สังเกตดูว่าลมหายใจเขาจะสงบระงับของเขาเมื่อเรากำหนดว่าเราหยุดจิต เมื่อหยุดจิตได้แล้วก็กำหนดในความหยุดนั้น เห็นเอกัคคตารมณ์ เห็นอุเบกขารมณ์ อันเป็นองค์ของฌานสี่ในอานาปานสติ หยุด นิ่ง หยุดปรุงแต่ง หยุดอกุศล หยุดโลภโกรธหลง เป็นเอกัคคตารมณ์
จากนั้น ณ จุดที่นิ่งที่หยุด เราปล่อยความรู้สึกความสนใจหรือสติที่ตั้งไว้กับลมหายใจ เพราะลมมันดับไปแล้ว เราเดินจิตต่อไปสู่สมถะที่สูงขึ้น คือสมถะจากอานาปานสติ กำหนดในจุดที่จิตของเราหยุดนั้น กำหนดให้ก่อเกิดขึ้นเป็นดวงแก้วใส กำหนดน้อมนึกอธิษฐานว่าดวงแก้วใสนั้นเป็นหนึ่งเดียวกับจิตของเรา ดวงแก้วใสก็แปลว่าจิตเราใส ดวงแก้วสว่างก็แปลว่าจิตสว่าง ดวงแก้วปรากฏกำหนดน้อมให้กลายเป็นเพชรประกายพรึกเป็นปฏิภาคนิมิตก็แปลว่าจิตของเราเข้าถึงจิตอันเป็นประภัสสร เรากำหนดทรงสมาธิโดยใช้ภาพของดวงแก้วหรือกสิณนี้ ทรงอารมณ์จิตสมถะในกสิณ กำหนดน้อมนึกจากดวงแก้วใสสว่างให้กลายเป็นเพชรประกายพรึก
ในเรื่องของการกำหนดสมถะในกสิณนั้น ความสำคัญไม่ใช่เพียงแค่การกำหนดภาพ ภาพนั้นมีความจำเป็น ต้องสัมพันธ์กับอารมณ์จิต อารมณ์จิตทั้งหมดนั้นก็คืออารมณ์พระกรรมฐาน ซึ่งอารมณ์แห่งพระกรรมฐานแต่ละกองนั้นก็ยังมีความต่างกัน อารมณ์พระกรรมฐานที่ปรากฏขึ้นในขณะที่เราทรงจิตเป็นปฏิภาคนิมิตคือเป็นเพชรประกายพรึก ยิ่งจิตใสยิ่งสว่าง จิตยิ่งรู้สึกว่าเป็นสุขเอิบอิ่มเปี่ยมพลัง เมื่อดวงจิตของเราเปล่งรัศมีสว่างออกไป กลายเป็นเส้นแสงออกไปโดยรอบจากจิตที่เป็นเพชร ความรู้สึกว่าจิตเราเปล่งประกายรัศมี จะไปมีความสัมพันธ์กับพลังของกายทิพย์ ยิ่งทรงอารมณ์เห็นจิตเป็นเพชรประกายพรึกเปล่งรัศมีเปล่งแสงสว่างออกไปมากเท่าไร กายทิพย์ของเรายิ่งเกิดกำลังแห่งรัศมีสมาบัติ ยิ่งทำให้เกิดรัศมีกายเพิ่มขึ้นเพียงนั้น ทรงอารมณ์จิตเปล่งประกายแสงสว่างจากดวงจิต สว่างไปทั่วจักรวาล จิตเอิบอิ่มเปี่ยมพลัง ความรู้สึกของเรานั้น กำหนดน้อมพิจารณาในธรรมที่ครูบาอาจารย์ท่านเคยสอน ว่าเมื่อเราตักบาตร คือทำทานถวายทาน ตักบาตรจนขันลงหินทะลุ ยังได้ผลอานิสงค์แห่งทานไม่เท่ากับทำสมาธิ เกิดโอภาสเกิดแสงสว่างเพียงแค่หัวไม้ขีดวูบเดียวแป๊บเดียว แต่นี้จิตเราทรงอารมณ์เปล่งประกายสว่างไปทั่วอนันตจักรวาล ก็ให้เราคำนวณผลอานิสงส์ดูเองว่ามีผลอานิสงส์จากการภาวนาสูงแค่ไหน อันนี้คือข้อที่หนึ่ง เป็นการพิจารณาในกำลังของสมถะ
คราวนี้พิจารณาสมถะโดยที่มีวิปัสสนาซ่อนอยู่ในสมถะ เราก็พิจารณาว่า ทุกวินาทีที่จิตของเราทรงอารมณ์ จิตเป็นเพชรประกายพรึกจิตประภัสสรอยู่นั้น จิตเราสะอาดปราศจากความโลภโกรธหลง จิตเราห่างจากนิวรณ์ห้าประการ ดังนั้นเราทรงอารมณ์ที่จิตเป็นปฏิภาคนิมิตจิตประภัสสรนานเท่าไร นั่นก็หมายความว่า ช่วงเวลานั้น จิตเราก็สะอาดบริสุทธิ์ สะอาดปราศจากกิเลสนานเท่านั้นเช่นกัน และยิ่งเราปฏิบัติจนเป็นฌาน คือมีความเคยชินทรงอารมณ์ได้ จิตก็จะเกิดมีธรรมฉันทะพึงพอใจกับจิตที่สะอาด สว่าง สงบ
จำไว้ว่า เมื่อจิตเป็นประภัสสรเป็นเพชรประกายพรึก จิตสะอาดจากกิเลส จิตสว่าง คือ มีรัศมีของความเป็นทิพย์ ของดวงจิต จิตสงบคือสงบระงับจากความวุ่นวาย จิตสงบระงับจากอกุศลทั้งปวง เราเข้าถึงแก่นของการปฏิบัติ คือ ปฏิบัติจนจิตของเราเกิดความสะอาด สว่าง สงบ ร่มเย็น เมื่อพิจารณาว่าเราปฏิบัติและเรารู้ว่าเราปฏิบัติเพื่ออะไร เกิดผลอย่างไร เราก็ทรงอารมณ์ คือ ทรงสภาวะภาพนิมิตจิตเป็นประภัสสรสว่างเจิดจ้าเจิดจรัส จิตมีความสุขมีความอิ่มเอิบใจ ทรงอารมณ์เราไว้ให้นานเท่านานเท่าที่จะนานได้ จิตมีความยินดีในการภาวนาในการทรงอารมณ์ ทรงสภาวะที่จิตเราเป็นเพชรประกายพรึกมีเส้นแสงรัศมี อารมณ์จิตเป็นสุข ใจยิ้ม จิตยิ้ม สว่าง ความรู้สึกว่าจิตเราสว่างไปทั่วจักรวาล ทรงอารมณ์ของเราไว้ รัศมีของจิตเรานี้จะเป็นเกราะแก้วคุ้มครองเรา เป็นมหาสะท้อนจากผู้ที่คิดไม่ดีคิดร้ายกับเราโดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปคิดว่าเราจะทำร้ายผู้อื่น จิตอันสว่างเป็นกุศลนั้น มีกระแสของบุญเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงรักษา
จากนั้นกำหนดจิตต่อไป ทรงภาพองค์พระอยู่กลางดวงจิตที่เป็นเพชรประกายพรึก กำหนดว่าเราทรงไว้ในความดี ในกุศล เรามีไตรสรณคมน์ คือ กำลังแห่ง พระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ คุ้มครองรักษา จิตเราเป็นเพชรประกายพรึก สว่าง ภาพองค์พระ กำลังพุทธานุภาพ พุทธบารมี แผ่สว่างกระจายออก
จากนั้นน้อมจิตแผ่เมตตาอันไม่มีประมาณออกไปจากจิตของเรา คลื่นกระแสความสุข ความสงบ ความเมตตา ความปรารถนาดี แผ่ออกไปจากจิตของเราอย่างไม่มีประมาณ ใจยิ่งเอิบอิ่มยิ่งสว่าง ภาพองค์พระยิ่งเป็นเพชรระยิบระยับชัดเจนอยู่ภายในจิต จิตเรามีพระพุทธองค์เป็นพระภายใน จิตเราเชื่อมโยงถึงพระพุทธเจ้าบนพระนิพพาน จากนั้นเราจึงน้อมจิตอธิษฐาน ขอกำลังพุทธานุภาพ ยกอาทิสมานกายคือกายทิพย์ของเราขึ้นไปปรากฏอยู่เบื้องหน้าสมเด็จองค์ปฐมบนพระนิพพาน ขออาราธนาพรั่งพร้อมด้วยมหาสมาคม คือพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระอรหันต์ทุกๆพระองค์ของพระพุทธเจ้า ผ่านมาแล้วทุกพระองค์จนถึงพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน รวมถึงครูบาอาจารย์ผู้เป็นสัมมาทิฐิ ขอเมตตาปรากฏมาประทับอยู่บนพระนิพพาน กายทิพย์ของเรา ขอจงปรากฏในสภาวะแห่งกายพระวิสุทธิเทพนั่งคุกเข่าบรรจงกราบทุกท่านทุกๆพระองค์ ด้วยความนอบน้อม ด้วยความเคารพ เมื่อกราบลงแล้ว เราก็กำหนด อธิษฐานขอให้บังเกิดดอกบัวแก้วเป็นรัตนบัลลังก์ เป็นเหมือนกับเบาะรองนั่งให้กายทิพย์กายพระวิสุทธิเทพของเราขัดสมาธิอยู่บนรัตนบัลลังก์ดอกบัวแก้ว สว่าง ดอกบัวแก้วนั้นเปล่งประกายสว่าง กายทิพย์เรากำหนดจิต เจริญวิปัสสนาญาณอยู่บนพระนิพพานท่ามกลางพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ทุกๆพระองค์ ครูบาอาจารย์ กำหนดจิตพิจารณา ว่าจิตของเราในขณะที่มีชีวิตอยู่บนโลกมนุษย์ เราเกาะ เราห่วงสิ่งใดมากที่สุด แต่ละคนก็จะมีความเกาะความห่วงแตกต่างกัน ความรู้สึกแรกของใจของเราคืออะไร เป็นวัตถุหรือเป็นบุคคล เมื่อความรู้สึกปรากฏขึ้นแล้วเราก็พิจารณาตัด พิจารณาตัด พิจารณาปลง พิจารณาวาง
การฝึกจิตวิปัสสนา คือการที่เราเจริญปัญญาพิจารณาเหตุผล พิจารณาใคร่ครวญตามความเป็นจริงตามหลักของกฎไตรลักษณ์ พิจารณาตามหลักของอนิจลักษณะ คือความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป พิจารณาเพื่ออะไร พิจารณาเพื่อเราจะได้วางได้ขาด คำว่าวางได้ขาดนั่นหมายความว่า ในขณะที่เราพิจารณาหรืออยู่ในสมาธิ เราวางมันได้ แต่ออกนอกสมาธิหรือบางอารมณ์มันก็หวนกลับไปอาลัย กลับไปห่วง กลับไปพะวง กลับไปติดกับมัน แต่เมื่อไรก็ตามที่เราพิจารณาฝึกวางให้มันลึกให้มันเด็ดขาด จนกระทั่งจิตไม่หวนไม่อาลัย ไม่กลับไปเสียดายไม่กลับไปนึก ไม่กลับไปอยากได้อีก อารมณ์จิตนี้ก็คืออารมณ์จิตที่ตัดกิเลสหรือตัดสิ่งที่เราติดยึดมั่นถือมั่นได้เด็ดขาดเป็นสมุจเฉทปหาน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเราปฏิบัติไปแล้ว จริงๆ มันก็มีอารมณ์ที่เรียกว่า เบื่อๆ อยากๆ บางช่วงก็รู้สึกว่าวางได้ บางช่วงเราก็กลับไปคิดถึงกลับไปอยาก มันขึ้นอยู่กับสภาวะจิตสภาวธรรมที่เราพิจารณาจนตัด ว่ามันตัดได้ชั่วคราวหรือตัดจนเป็นสมุจเฉทปหาน ซึ่งการที่เราจะตัดให้เป็นสมุจเฉทปหานนั้นมันจำเป็นต้องตัดด้วยกำลังความตั้งใจความเด็ดเดี่ยว อารมณ์จิตต้องมีความเด็ดขาดไม่หวนกลับไปอีก
ดังนั้นเราเริ่มต้นจากสิ่งง่ายๆ ก็คือสิ่งที่มันเป็นกิเลส โลภ โกรธ หลง ในส่วนที่มันหนักหนา ส่วนที่มันเป็นส่วนที่มันอยาก เอาง่ายๆว่าความโลภ ความโลภความอยาก ความอยากเสพสุข อยากร่ำรวย อยากมี เราตัดความโลภที่มันอยากที่มันแย่ที่มันเลวทรามที่สุดต่อไปได้ไหม โลภจนคิดอยากฆ่าฟันผู้อื่นเพื่อชิงทรัพย์มีในจิตไหม อันนี้ตัดเป็นสมุจเฉทปหานได้ไหม กำหนดพิจารณาแบบนี้ไป ไอ้ที่มันเลวทรามเลวร้ายที่สุด ทำได้ไหม รองลงมา ความโลภที่ทำให้เราคิดไปละเมิดศีล ไปปล้น ไปขโมย ไปลัก อันนี้เราตัดจนเป็นสมุจเฉทปหานได้ไหม ตัดได้นี่ก็ถือว่าใช้ได้ ตัดจนอยู่ในกรอบของศีลคือไม่ไปละเมิดศีลห้า ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดจาโกหก ไม่ดื่มเครื่องดองของเมา ไม่ไปละเมิดทำลายสติ เราทำได้ไหม หรืออย่างตัดเหล้าตัดของมึนเมาให้เป็นสมุจเฉทปหาน คือเลิกการดื่มสุราเมรัย เหล้า เบียร์ ไวน์ บางคนบอกว่าไม่ดื่มเหล้าไม่ผิดศีลห้า แต่ดื่มไวน์ ดื่มแชมเปญ ถามอันนี้ได้ไหม ไม่ได้ หรือดื่มหรือเสพหรือสูบเพื่อเมาทั้งหลาย อันนี้อยู่ในข้อห้า อบายมุข ไปใช้กัญชาจนเมานี้ได้ไหม ก็ไม่ได้ ไปสูบฝิ่นไปใช้ยาเสพติดได้ไหม ก็ไม่ได้ อันนี้ก็ถือว่า สำหรับบางคนนี้ตัดได้ไหม เป็นสมุจเฉทปหาน คือไม่เอาเลย ดังนั้นเราตัดให้เป็นสมุจเฉทปหานแต่ของหยาบ เป็นการเริ่มต้นเป็นการให้กำลังใจเราเองก่อน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อปฏิบัติมาถึงจุดเพื่อมรรคผลนิพพาน ก็ควรที่จะต้องรักษาศีลห้าให้บริสุทธิ์ ในข้อสีลัพพตปรามาส อันถือว่าเป็นสังโยชน์เบื้องต้นขององค์แห่งความเป็นพระโสดาบัน ความเป็นพระอริยเจ้า ต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ดังนั้นสิ่งที่เราตัดให้เป็นสมุจเฉทปหานที่มันอิงกับศีลโยงมาในข้อโลภ โกรธ หลง อย่างโกรธเราตัดโกรธตัดความอาฆาตพยาบาทได้ไหม เลิกจองเวรเลิกเป็นเจ้ากรรมนายเวรผู้อื่นได้ไหม เราคิดพิจารณาตรงนี้ได้ไหม บางคนตอนนี้ก็เลิกเป็นเจ้ากรรมนายเวรผู้อื่น มีการรู้จักใช้สติระมัดระวังที่จะไม่ไปกระทบอารมณ์ไม่ไปกระทบจนเกิดกรรม อันนี้ก็คือจิตละเอียดขึ้นไปอีก ไม่อาฆาตพยาบาท ความรู้สึกที่อาฆาตแค้นชนิดที่ว่าจะไปเข่นไปฆ่าล้างแค้น เราตัดเป็นสมุทเฉทปหานได้ไหม หรือความหลง โมหะความไม่รู้ ความเขลา อวิชชาที่เราหลงว่าเราจะไม่ตาย หลงติดกายจนเกินไป หลงจนกระทั่งเวลาที่เห็นความตายแล้วมันกลัวจนทุรนทุรายจนออกอาการ อารมณ์จิตเช่นนี้เราตัดเป็นสมุทเฉทปหานได้ไหม ถามว่าความกลัวตายยังมีอยู่ไหม ยังมีอยู่ แต่จิตก็ยังมีอารมณ์ที่ยอมรับตามความเป็นจริงว่า “เราต้องมีความตายเป็นธรรมดา” อารมณ์จิตเช่นนี้ โมหะเช่นนี้ เราตัดได้ไหม มันเบาบางลงไหม อันนี้ก็ให้ลองพิจารณาดู อันนี้ก็คือสิ่งที่เราวิปัสสนา เราวิปัสสนาเพื่ออะไร พิจารณาเพื่อตัด เพื่อละ เพื่อวาง
ยิ่งวางเร็วเท่าไรยิ่งดี อย่างตอนนี้พระท่านสอน ท่านสอนว่าฝึกเข้าฌานได้เร็วลัดนิ้วมือเดียว แต่คราวนี้ตัวตัดกิเลส ฝึกปลงฝึกวางให้เร็วแค่ลัดนิ้วมือเดียว เอาเป็นว่าอารมณ์จิตที่มันค้างคา คาใจ ปรุงแต่งไปไม่มี คือสติมาปุ๊บวางทันที เลิกคิด เลิกปรุง เลิกอาลัยที่จะไปนึกถึงสิ่งนั้นอารมณ์นั้นอีก “วางให้ลง ปลงให้เร็ว” ฝึกจนรู้สึกว่าตรงนี้เป็นการฝึกจิตของเรา วางให้ลง ปลงให้เร็ว วางให้ลงทันที ปลงให้มันดับได้ทันที เหมือนกับอุปมาที่ครูบาอาจารย์ท่านสอน บอกคนทั่วไปอารมณ์จิตที่ค้างคาอย่างเช่นความโกรธ โกรธเหมือนเอามีดไปกรีดหินเป็นรอย ใช้เวลาเป็นสิบปีเป็นร้อยปี กว่ารอยของความโกรธ คือรอยที่เอามีดกรีดหินไว้มันจะสึกกร่อนหายไป อันนี้ถ้าใครยังมีอารมณ์ในเบอร์นี้ระดับนี้ Level นี้ก็แปลว่า แรงกรีดแรงโกรธที่มันปักกรีด ถามว่ามันกรีดที่ไหน กรีดที่หินหรือกรีดที่ใจเรา กรีดที่ใจเราใช่ไหม คราวนี้มันกรีดลึกแบบกรีดหินมันก็เท่ากับเราก็จดจำจองเวรพยาบาท อารมณ์นี้ก็คือเกิดการจองเวรแน่นอน
คราวนี้ต่อมาก็คือ อารมณ์ที่มันติดที่มันค้างที่มันคาอารมณ์โกรธบ้าง อารมณ์จดจำบ้าง อารมณ์ที่มันขุ่นมัวเครียดแค้น อุปมาเหมือนเอามีดไปกรีดไว้บนผืนทราย อันนี้ค่อยยังชั่วหน่อย ถึงเวลาลมพัดไม่นาน เต็มที่นานที่สุดก็สักสัปดาห์หนึ่งอาทิตย์หนึ่ง ลมก็พัดพาไป คือมีเรื่องอื่นให้เราลืมไปมันก็จางหายไป อันนี้ค่อยยังชั่วหน่อย วางได้เร็วขึ้นมาหน่อย แต่ก็เท่ากับเอาไปคิดเอาไปปรุงซะคืนหนึ่งบ้างสองคืนบ้างอาทิตย์หนึ่งบ้างแล้วค่อยลืมค่อยๆเลือนค่อยๆวาง แต่ส่วนใหญ่มันไม่ใช่วางมันเป็นลืม คือมันจางเพราะไปมีเรื่องอื่น
คราวนี้ต่อมาที่มันดีขึ้นมาอีกก็คือ อารมณ์จิตที่มันคาที่มันค้างที่มันโกรธเหมือนกับเอามีดหรือเอาไม้ไปขีดบนผิวน้ำ มันมีรอยให้เห็นเป็นริ้วน้ำ เหมือนกับจิตเรากำหนดรู้ เกิดปฏิฆะเกิดความพึงใจแล้วก็ดับไป ไม่ขึ้นต่อจนกลายเป็นความโกรธความแค้นความอาฆาตความพยาบาทการจองเวร เห็นไหม จริงๆอารมณ์ของกิเลสมันจะมีเบอร์ คือ ความเข้มข้นของอารมณ์ จากน้อยไปหามาก จากปฏิฆะไปหาอาฆาตจองเวรพยาบาทอันนั้นก็คือพวกเข้มข้น ถ้าเอามีดกรีดน้ำก็คือรู้แล้วว่าขัดเคืองใจแล้วก็จางก็หายไปเลย อันนี้เกิดจากการฝึกฝนของจิต เกิดจากปัญญาที่รู้วาง จนกระทั่ง เบอร์สุดท้าย คืออารมณ์จิตของผู้ที่ฝึกจิตมาดีแล้ว อารมณ์จิตของผู้ทรงฌาน อารมณ์จิตของผู้ที่ในขณะนั้นอยู่ในฌานสมาบัติ ไปจนกระทั่งถึงจิตของผู้ที่เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า อารมณ์จิตเหมือนเอามีดไปกรีดอากาศ เห็นว่าเขาด่า เห็นว่าเขากระทบ รู้อารมณ์กระทบ แต่ไม่มีผลกับจิตใจของเราแม้แต่น้อย อุเบกขาวางเฉย ไม่มีริ้วรอย ไม่มีอารมณ์ ไม่มีชักสีหน้า ไม่มีเก็บกดไว้ในใจ ไม่มีทั้งสิ้น เราทำได้ถึงขั้นนี้จริงๆ ถามว่าทำได้ไหม มันก็ทำได้จากการฝึกฝน จากการฝึกจิต จากการฝึกวาง จากการฝึกปลง
ตอนนี้ช่วงนี้พระท่านเน้นให้ฝึกวางให้ลง ปลงให้เร็ว ฝึกเป็นการท้าทายเหมือนกับการที่เราทรงฌาน ทรงอารมณ์ได้รวดเร็วเพียงแค่ลัดนิ้วมือเดียว แค่ลัดนิ้วมือเดียวจิตเข้าถึงจิตที่เป็นฌานสี่ หยุดจิตได้ จิตกำหนดปุ๊บเป็นเพชรประกายพรึกสว่างเต็มกำลังกาย
จิตกำหนดจิตปุ๊บกำหนดจิตสลายทุกสิ่งเป็นอรูป รวดเร็วแค่ลัดนิ้วมือเดียวได้ จิตทรงภาพพระเป็นเพชรประกายพรึก ทรงภาพพระสามฐานเป็นเพชรประกายพรึกรวดเร็วเพียงแค่ลัดนิ้วมือเดียวได้ จิตทรงอารมณ์ยกจิตปรากฏสภาวะเป็นกายพระวิสุทธิเทพกราบอยู่เบื้องหน้าสมเด็จองค์ปฐมบนพระนิพพานได้ อันนี้คือความเร็วในการทรงอารมณ์ของสมถะ
คราวนี้ให้ฝึกอีกขั้นหนึ่งที่เราต้องกระทบกับโลก ฝึกวางให้ลง ปลงให้เร็ว รู้กระทบปุ๊บ วาง กำหนดรู้ว่าเราจะเก็บขยะ เก็บอุจจาระ เก็บของสกปรก เก็บอกุศลจิต เก็บความเร่าร้อนใจ มาไว้ในจิตเราเพื่อสิ่งใด หน้าที่ของเราคือรักษาจิตเราให้มีความผ่องใส สะอาด บริสุทธิ์ ไร้ซึ่งสรรพกิเลสทั้งปวง ดังนั้นสิ่งที่รู้กระทบปุ๊บ วางทันที วางให้ลง ปลงให้เร็ว โดยพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นอกุศล ข้าพเจ้าขอไม่เก็บอกุศลเหล่านี้ไว้ในจิต สิ่งใดเป็นแรงกระทบด้วยความโลภโกรธหลงของบุคคลอื่น เราไม่เก็บไว้ในจิต เราวางให้หมด เราปลงให้หมด ยิ่งปลงยิ่งดับได้เร็วมากเท่าไร มันทำให้ไม่เหลือเชื้อของความโลภโกรธหลง ไม่เหลือเชื้อแห่งความทุกข์ให้ใจเราไปปรุงแต่งต่อ เมื่อไม่ปรุงแต่งต่อจิตเราก็ไม่ทุกข์ ยิ่งทำได้เร็วได้มากเท่าไร คือ ดับปุ๊บวางปุ๊บปลงปุ๊บ กำหนดจิตประภัสสรทันที กระทบปุ๊บวางปุ๊บปลงปุ๊บจิตประภัสสรทันที เห็นจิตเป็นเพชรประกายพรึกทันที ฝึกแบบนี้ไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันจะเหลือแต่จิตประกายพรึกอย่างเดียว ก็เท่ากับเราทรงอารมณ์ที่ผ่องใสที่สุดได้ตลอดเวลาเต็มกำลัง
อันนี้ใครฟังแล้วน้อมจิตพิจารณาแล้วเห็นประโยชน์เห็นจริงตามคำสอนที่เป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์ก็พึงปฏิบัติ แล้วจะยิ่งก้าวหน้า ก้าวเข้าสู่กระแสแห่งโลกุตระ กระแสมรรคผลได้โดยเร็ว และอีกส่วนหนึ่งที่เป็นเรื่องนี้ที่จำเป็นจะต้องมีการเตือน ตอนนี้กระแสของอกุศล กระแสของอวิชชา มีความเข้มข้นรุนแรงขึ้น ตอนนี้เราจะเห็นได้ว่ามีโจรในทุกวงการ ลามมาถึงในวงการของสายธรรมผู้ปฏิบัติธรรม ในการทำบุญก็มีโจรที่ปลอมบัญชีบ้าง ปลอมงานบุญต่างๆรับบริจาคเข้ามาบ้าง มีมากเป็นจำนวนมากผิดปกติ อันนี้อันที่หนึ่ง
อันที่สอง กระแสของอกุศล กระแสของมารที่เขาปรากฏผล เกิดการพลิกจิต คนดีๆคนปฏิบัติคนไปได้ขั้นสูงแล้วพลิกเป็นอกุศล ตอนนี้เห็นกันอยู่ค่อนข้างมากหลายคน ดังนั้นตัวเราเองก็ต้องตั้งจิตอธิษฐาน ตั้งจิตอธิษฐานอย่างไร ตอนนี้ก็ให้เราตั้งจิตอยู่บนพระนิพพาน อยู่เบื้องหน้าสมเด็จองค์ปฐม อธิษฐาน “ขอบารมีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ เทพพรหมเทวาผู้เป็นสัมมาทิฐิ ขอเมตตาพิทักษ์รักษากายวาจาใจของข้าพเจ้าให้อยู่ในกระแสแห่งกุศล กระแสแห่งสัมมาทิฐิ สัมมาสมาธิปัญญา สัมมาปฏิบัติ ขอให้การปฏิบัติธรรมข้าพเจ้ามุ่งลัดตรงสู่มรรคผลพระนิพพาน ขอให้จิตข้าพเจ้าเข้าสู่กระแสแห่งพระโลกุตระธรรมเจ้า ไม่ถอยหลัง ไม่ย้อนกลับ ไม่พลิกจิตไปสู่มิจฉาทิฐิหรืออกุศลกรรมทั้งปวง จิตมีแต่ ก้าวใกล้พระนิพพาน ก้าวใกล้ความเป็นพระอริยเจ้า ก้าวใกล้มรรคผลพระนิพพานไปทุกลมหายใจแห่งการปฏิบัติ และหากแม้นข้าพเจ้าพลั้งเผลอหลุดหลงไปด้วยวาระกรรมหรือปัจจัยอันเป็นเหตุที่ข้าพเจ้าเคยทำวิบากกรรมมาในชาติปางก่อน ก็ขอให้ครูบาอาจารย์ กัลยาณมิตรตลอดจนเทพพรหมเทวาผู้ใหญ่ หลวงพ่อ เมตตาสงเคราะห์ ตักเตือน ดลใจ ดึงจิตข้าพเจ้าให้กลับคืนสู่เส้นทางแห่งสัมมาทิฐิเสมอ ประดุจเข็มทิศย่อมชี้ทิศในทิศเหนือเสมออยู่ฉันใด ก็ขอให้จิตใจของข้าพเจ้ามุ่งตรงสู่มรรคผลนิพพานฉันนั้นด้วยเช่นกัน ขอจิตอธิษฐานของข้าพเจ้านี้จงตั้งมั่นเด็ดเดี่ยว ขอเทวดาพรหมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายเมตตารับรู้รับทราบ โมทนาสาธุให้ข้าพเจ้าตั้งจิตตรงสู่มรรคผลพระนิพพาน พบเจอแต่ธรรมะที่ตรงกับมรรคผลนิพพาน ตรงกับจริตของข้าพเจ้า เป็นสัปปายะธรรมกับจิตของข้าพเจ้า พบเจอแต่กัลยาณมิตร พบเจอแต่ครูบาอาจารย์ที่สอนตรงสอนถูก เป็นพระอริยเจ้า เป็นพระอริยสงฆ์ เป็นพระสุปฏิปันโน เป็นพระโพธิสัตว์ด้วยเทอญ“
จากนั้นตั้งจิตกราบพระพุทธองค์ด้วยความนอบน้อมด้วยความเคารพ ซบกราบแทบเบื้องพระบาทของสมเด็จองค์ปฐม ซึมซับน้อมรับกระแสพระพุทธเมตตา ขอพระองค์ทรงเมตตารักษา กายทวาร มโนทวาร วจีทวาร ของข้าพเจ้า รักษาคุ้มครองธาตุขันธ์ห้าของข้าพเจ้า คุ้มครองดวงจิตของข้าพเจ้า
เมื่อน้อมกราบน้อมซึมซับรับกระแสจากสมเด็จองค์ปฐมท่านแล้ว เราก็กำหนดจิตต่อไป กำลังจิตกำลังพระกรรมฐานที่ข้าพเจ้าทั้งหลายได้ปฏิบัติ ขอเป็นปฏิบัติบูชา และขอกำลังกรรมฐานนี้ จงมาเป็นกำลังคุ้มครอง ชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์ ตอนนี้คนที่ทุศีลคนบาปมันมีอำนาจเป็นใหญ่ในบ้านเมือง ผลที่เกิดขึ้นก็ทำให้เทวดาที่เป็นมิจฉาทิฐิเทพบุตรมารเขาก็พลอยมีกำลัง ดังจะเห็นว่าบางสิ่งที่เกิดเป็นอาเพศ ไฟไหม้พระวิหารวัดสำคัญที่มีความสงบศักดิ์สิทธิ์มีคุณค่าอย่างยิ่ง หรือแม้แต่เกิดการเสียชีวิตหมู่ของสัตว์ อันนี้ก็เหมือนกับเกิดการบูชายัญของฝ่ายที่เป็นมิจฉาทิฐิ จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่เกิดกระแสพลังงานที่เป็นอกุศล เป็นพลังงานที่เป็นลบเกิดขึ้น ดังนั้นคนที่เป็นสายบุญ จริงๆเราปฏิบัติเพื่อพัฒนาจิตของเรา ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามช่วยชาติบ้านเมืองโดยน้อมกระแสของกุศลมาช่วยแผ่นดินช่วยชาติ เราคิดดำริไว้เช่นนี้แล้วว่ากำลังบุญของเราจะมากจะน้อย แต่จิตของเรานั้นบริสุทธิ์ที่ตั้งใจปรารถนาให้ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เกิดความเจริญรุ่งเรือง เราจึงน้อมอาราธนากระแสแห่งพระนิพพาน กระแสบุญจากการเจริญพระกรรมฐาน กระแสบุญที่เราอัญเชิญน้อมอาราธนาจากพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระอรหันต์ทุกพระองค์บนพระนิพพาน ขออาราธนาอัญเชิญลงมาเป็นกระแสบุญศักดิ์สิทธิ์จากพระนิพพาน เป็นบุญมากมายมหาศาลอันไม่มีประมาณ ขออาราธนาเป็นลำแสงสว่างความบริสุทธิ์ส่งตรงลงมายังโลก ลงมายังดินแดนสุวรรณภูมิ ลงมายังแผ่นดินประเทศสยามประเทศ ขอกระแสบุญส่งผลลงมาเกิดความศักดิ์สิทธิ์อัศจรรย์ ขอบุคคลที่ทำความดีสร้างกุศลไว้ในชาติในแผ่นดินจงมีกำลัง พระสยามเทวาธิราช พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระหลักเมือง ตลอดรวมไปจนถึงเทวดาพรหมผู้เป็นสัมมาทิฐิ จิตของพุทธบริษัทสี่ที่ตั้งใจปฏิบัติด้วยความบริสุทธิ์หมดจดในทาน ศีล ภาวนา ขอกำลังแห่งพระนิพพานจงเมตตาคุ้มครองรักษา ขอปกป้องปกปักให้เกิดความปลอดภัยในวัดวาอาราม พระวิหาร พระเจดีย์ พระพุทธรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายขอจงปลอดภัย
จากนั้น น้อมจิตอาราธนากระแสบุญศักดิ์สิทธิ์จากพระนิพพานลงมา คุ้มครองรักษาพระมหาเศวตฉัตร ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอกำลังบุญจงส่งเสริมเป็นกำแพงแก้วรักษาพระชนมวาร ก่อเกิดหนุนนำพระบารมีให้สูงขึ้น มีกำลังอยู่เหนือหมู่ผู้ที่คิดร้ายเป็นมิจฉาทิฐิทั้งหลาย ขอกำลังกระแสบุญศักดิ์สิทธิ์จากพระนิพพาน เสริมเพิ่มกำลังของเทวดาพรหมที่รักษาคุ้มครองผู้ที่สร้างคุณูปการต่อบ้านเมืองด้วยความบริสุทธิ์ใจ ขอกำลังบุญกุศลทั้งหลายจงสำเร็จสัมฤทธิ์อัศจรรย์ และขอจิตของข้าพเจ้าผู้มีใจเป็นกุศลต่อส่วนรวมนี้ เทวดาพรหมทั้งหลายได้โปรดอารักขาเมตตาคุ้มครองข้าพเจ้าจากอวิชชา จากมิจฉาทิฐิ จากกระแสที่เป็นพลังงานลบทั้งหลาย จากกระแสที่เป็นอกุศลทั้งหลาย ขอจงสลายไม่อาจกล้ำกรายเข้าใกล้กายของข้าพเจ้า ไม่สามารถเข้าใกล้ญาติธรรมกัลยาณมิตร ครอบครัวพี่น้องลูกหลานพ่อแม่ของข้าพเจ้าได้ ไม่อาจกล้ำกรายเข้าใกล้เคหะสถานอาคารบ้านเรือน ที่ทำงาน ธุรกิจของข้าพเจ้าได้ กำหนดน้อมเป็นกระแสแสงสว่างจากพระนิพพานลงมา ขอจงมีแต่กุศล มีแต่อุดมมงคล มีแต่สวัสดิ์ ความเจริญรุ่งเรือง น้อมกระแสลงมาต่อเนื่อง
จากนั้นอธิษฐานกราบลาพระพุทธเจ้า กราบลาทุกท่านบนพระนิพพาน น้อมกระแสลงมาฟอกธาตุขันธ์ โรคภัยไข้เจ็บสลาย ใครที่เป็นเนื้องอกเนื้อร้ายก็ขอให้จงสลายไปให้หมด ใครที่ป่วยโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นในขันธ์ห้าจุดใดก็น้อมกระแสจากพระนิพพานลงมาฟอกธาตุขันธ์ สลายล้างชำระล้าง ล้างโรคออกไปให้หมด ผมขนเล็บฟันหนังกลายเป็นแก้วใสสว่าง โครงกระดูกเส้นเอ็นหลอดเลือดทั้งหลาย ธาตุธรรมฟอกสลาย ใส สะอาดเป็นแก้ว กล้ามเนื้อทุกส่วนอวัยวะภายในทุกส่วน อาการทั้ง 32 กระแสบุญธาตุธรรมฟอกชำระ จนอาการทั้ง 32 อวัยวะทุกส่วนทั่วร่างกายใสสว่างเป็นแก้ว อวิชชาคุณไสยทั้งหลายสลายตัวหลุดออกไป อกุศลทั้งหลายที่ค้างคาในจิตใจสลายหายออกไป ความหนักทั้งหลาย ขอจงสลายออกไปจากใจ มีแต่ความเบาความสะอาดความปลอดโปร่งโล่งเบาเป็นสุข กายเนื้อขอจงสว่างเป็นแก้วประกายพรึก กายทิพย์ผนึกเป็นหนึ่งเดียวกับขันธ์ห้า กายเนื้อกลายเป็นกายแก้วสว่าง
กำหนดน้อมว่านับแต่นี้เมื่อไรที่ข้าพเจ้า กำหนด “วางให้ลง ปลงให้เร็ว” จนกระทั่งจิตเราเป็นแก้วประกายพรึก ทรงอารมณ์อยู่ได้นานเท่าไรก็ตาม ขอให้นับแต่นี้เกิดความอัศจรรย์ เกิดความศักดิ์สิทธิ์ จิตจงปรากฏความเป็นแก้วสารพัดนึก จิตเราไม่รับเอาสิ่งที่เป็นอกุศล วางให้ลง ปลงให้เร็ว แล้วก็เปลี่ยนนึกให้จิตเป็นเพชรประภัสสร มีองค์พระอยู่ภายในสว่าง จากนั้นก็ให้เราสังเกต นึกคิดสิ่งใดเราได้ดังใจนึก เจโตปริยญาณรวดเร็วขึ้น อันนี้ก็ให้เราสังเกตความก้าวหน้าของจิตและก็สังเกตต่อไปในเรื่องของการตัดกิเลสว่า เมื่อฝึกวางให้ลงปลงให้เร็วได้แล้ว เรารู้สึกว่าทุกข์น้อยลง อารมณ์เสถียรกับความสงบเย็นเป็นกุศลมากขึ้น อกุศลไม่อาจกล้ำกายจิตของเราได้ ฝึกให้ได้ ฝึกให้สำเร็จ ทุกคนจะยิ่งก้าวหน้าทางจิตอย่างรวดเร็ว
สำหรับวันนี้ก็ขอโมทนาบุญกับทุกคน พรุ่งนี้อาจารย์ก็จะมีสอนในคอร์ส Ultimate Healer แล้วก็สมาธิจิตเป็นกรณีพิเศษเต็มวัน แล้วก็วันรุ่งขึ้นก็เดินทางไปที่เชียงใหม่เชียงราย ซึ่งก็ในโปรแกรมก็คิดว่าน่าจะได้ไปที่วัดแสงแก้วโพธิญาณจริงๆตามโปรแกรมก็คือไปค้างที่วัดแสงแก้วโพธิญาณ แต่คราวนี้ก็คงจะเปลี่ยนไปร่วมบุญนำปัจจัยไปถวายเป็นกำลังใจท่านในการบูรณะวัด ก็บุญกุศลทั้งหลายที่จะเดินทางไปเชียงใหม่เชียงรายก็ขอให้เราทุกคนได้โมทนาบุญด้วย พบกันใหม่สัปดาห์หน้า สำหรับสัปดาห์นี้ วันอาทิตย์ไม่ได้สอน แล้วก็มีอีกเรื่องหนึ่งก็คือ สัปดาห์ต่อไปก็จะเป็นวันที่ ท่านเจ้าอาวาสวัดท่าซุงเดินทางมาที่บ้านสายลม อาทิตย์หน้าก็จะเป็นการถวายมหาสังฆทานซึ่งมันจะไปตรงกับวันสิ้นเดือนแต่ว่ามันยังเป็นวันที่ยังไม่ได้ขึ้นเดือนใหม่ แล้วก็เดี๋ยวอาจารย์ก็จะประกาศเรื่องถวายสังฆทาน อันนี้ก็ฝากเตือนแล้วก็ขอให้เราช่วยกันนิดหนึ่ง ตั้งกำลังใจเขียนแผ่นทองอธิษฐานพระนิพพาน ตั้งใจอธิษฐานกันดีๆ
วันนี้ก็ขอโมทนาทุกคน มีความสุขความเจริญรุ่งเรืองในธรรม จิตมีความตั้งมั่นไม่พลิกผันจากความดี อยู่ในกระแสโลกุตรธรรมโดยเร็ว สำหรับวันนี้สวัสดี พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ
ถอดเสียงและเรียบเรียง โดย คุณ Be Vilawan
ถอดเสียงและเรียบเรียง โดย คุณ เมตตาสมาธิ