เสียงธรรมจากห้อง “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน”
วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม 2565
เรื่อง อารมณ์พระกรรมฐาน
โดย อาจารย์ คณานันท์ ทวีโภค
สำหรับวันนี้ก็มีท่านที่เข้ามาใหม่กันหลายท่าน เราก็เริ่มต้นจากการที่พยายามฝึกวางพื้นฐานในการปฏิบัติธรรม การฝึกสมาธิ ในการฝึกสมาธินี้ หากเรามีความเข้าใจ เข้าใจในเรื่องของหลัก เข้าใจในเรื่องของเคล็ด กลเม็ดเคล็ดลับในการฝึก การฝึกสมาธิก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินวิสัย วิธีฝึกสมาธิที่ง่ายดีที่สุดที่ทำได้ สิ่งแรกที่เป็นเรื่องสำคัญก็คือ การที่เรากำหนดความรู้สึกในการปล่อยวางร่างกายของเรา ในการปล่อยวางในเรื่องร่างกายนั้น ภาษาของการปฏิบัติท่านเรียกว่า การตัดขันธ์ 5 การตัดร่างกาย ไอ้อาการตัดก็คือ ตัดความห่วง ความเกาะ ความยึดในร่างกายออกไป ทำไมต้องตัดร่างกาย เพราะว่าเมื่อไหร่ที่เราตัดความห่วงใยร่างกายไปแล้ว มันจะทำให้ง่ายในการที่เราจะปฏิบัติถึงขั้นที่เรียกว่าแยกรูป แยกกาย แยกกายเนื้อจากกายทิพย์ แยกจิตอาทิสมานกาย ก็คือการฝึกขึ้นไปถึงขั้นกายทิพย์ อันนี้คือเรื่องของการตัดร่างกาย
แต่ในขณะเดียวกัน ในการตัด อีกตัวหนึ่งที่เป็นเรื่องสำคัญก็คือ การตัดความกังวลทั้งหลายไปจากใจของเรา ถ้าคำที่เป็นคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา ท่านเรียกว่าการตัดปลิโพธ (ปะ-ลิ-โพ-ธิ อ่านว่า ปะลิโพด) ปลิโพธิ คำว่าปลิโพธิก็คือเรื่องราวต่างๆ ที่เรากังวลใจ ความห่วง ความกังวล ห่วงคนนั้นคนนี้ ความคิดวุ่นวายไป ซึ่งปลิโพธ ความห่วงทั้งหลายอันที่จริงมันครอบคลุมไปตั้งแต่ บุคคล การงาน สินทรัพย์ รวมกระทั่งไปถึงร่างกาย รวมกระทั่งไปถึงนิวรณ์ทั้ง 5
ดังนั้นหากเรามีเคล็ดลับในการฝึก ที่จะตัดกาย ตัดความห่วงทั้งหมด คือตัดความห่วง ความวุ่นวายใจ แล้วก็ตัดร่างกายออกไป ถ้าจุดนี้เราฝึกจนถึงขั้น แค่เราตัด แค่ผ่อนคลาย ปล่อยวางได้ เป้าหมายที่เราทำได้ก็คือ ผ่อนคลายปล่อยวางปุ๊[ จิตเข้าสู่ฌาน 4 ได้ทันที อันนี้ขึ้นอยู่กับการฝึกฝน ค่อยๆ ฝึกไป บางคนกว่าจะวุ่นวายใจ กว่าจะตัดความวุ่นวาย จนกระทั่งจิตสงบได้ใช้เวลานาน อันนี้ก็คือคนที่ยังไม่เข้าใจหลัก แก่นของสมาธิ ซึ่งหากเราฝึกได้แล้ว การทำสมาธิจะรวดเร็วย่นย่อ เข้าสู่เนื้อของสมาธิได้เร็วกว่าบุคคลทั่วไป ที่อื่นก็อาจจะไม่ได้อธิบายลึกซึ้งแบบนี้ ของเราลองทำง่ายๆ
กำหนดความรู้สึกตัวทั่วพร้อม จากนั้นผ่อนคลายทั่วร่างกาย ความรู้สึกกล้ามเนื้อทั่วร่างกายของเราผ่อนคลาย ขั้วความรู้สึกว่าเมื่อไหร่ที่เราตัดร่างกาย ปล่อยวางร่างกาย เราตัดวางความห่วง ความกังวลในจิตใจ เราตัดความเกาะ ความเกี่ยว ความยึดร่างกายขันธ์ 5 ทั้งหมด อาการความรู้สึกในการปล่อยวางวางกาย วางภาระ วางใจ วางทุกสิ่งออกไป ยิ่งวางได้เร็ว ก็คือเราปลง เราปล่อยวางได้ง่ายกว่าคนที่เขายังยึดมั่นถือมั่นปล่อยวางได้ยาก ยิ่งปล่อยวางง่าย ก็แปลว่าเราละกิเลส ละความรู้สึกได้ง่าย ผ่อนคลายพร้อมกับความรู้สึกปล่อยวาง ผ่อนคลายจนรู้สึกได้ถึงความว่างโล่งเบา ผ่อนคลายปล่อยว่างจนรู้สึกได้ว่าสภาวะรอบกาย รวมทั้งร่างกายของเรา สลายหายเป็นความว่างไปจนหมด เมื่อเข้าถึงจุดนี้ ก็หมายความว่าเมื่อไหร่ที่เราปล่อยวางผ่อนคลายร่างกาย จิตเราลงลึก จนกระทั่งถึงอรูปสมาธิ สลายความกังวล สลายความว่าง มีแต่ความว่าง โล่งเบา สลายร่างกายขันธ์ 5 ความเกาะ ความรู้สึก เมื่อจิตเหลือแต่ความว่าง โล่งเบา จิตนิ่งสงบ กำหนดรู้อยู่แต่ความรู้สึกที่ว่าง เบา สงบ ปล่อยวางเรื่องราวทุกอย่างออกไปอย่างง่ายดาย สงบนิ่ง ปล่อยวาง
จากนั้นจึงย้อนกลับมากำหนดรู้ในจิต นึกภาพจินตนาการเห็นดวงจิตของเราเป็นแก้วใส สว่าง จากดวงแก้วใส สว่าง น้อมนำความรู้สึกสัมพันธ์กับนิมิต นิมิตเห็นดวงจิตเป็นแก้วใสมากเท่าไหร่ อารมณ์ใจของเรายิ่งเบาสบายยิ่งเป็นสุข แสงสว่างของดวงจิตยิ่งสว่างใสมากเท่าไหร่ จิตยิ่งเป็นสุขกับความสงบเย็น ยิ่งสว่างใจยิ่งเอิบอิ่ม
เมื่อจิตของเราสว่างใส กำหนดยกกำลังใจของเรา จากจิตที่เป็นดวงแก้วใส ให้ปรากฏเป็นเพชรประกายพรึก เป็นเพชรระยิบระยับ สว่าง การที่ทรงภาพเห็นจิตเป็นกสิณ จิตเป็นเพชรประกายพรึก ระยิบระยับแพรวพราวนั้น ในพระพุทธศาสนาก็คือ เราทรงอยู่ในอารมณ์ของกสิณ กรรมฐานของกสิณ ที่เรียกว่าปฏิภาคนิมิต คือฌาน 4 ในกสิณ เห็นจิตเป็นเพชรระยิบระยับ จิตที่เป็นเพชรระยิบระยับนี้ก็คือ แก้วประภัสสร แก้วสารพัด จิตของราวเมื่อทรงอารมณ์ความเป็นเพชรระยิบระยับ มีความตั้งมั่น มีอารมณ์เป็นสุขอย่างยิ่งยวด รัศมีของจิตแผ่สว่าง กระจายออกไปรายรอบนั่นก็คือสภาวะของความเป็นทิพย์ เริ่มครอบคลุม คุ้มครอง เริ่มปรากฎ เทวดาพรหมท่านก็มาพิทักษ์รักษา ผู้ที่เจริญพระกรรมฐาน
กำหนดน้อมจนรู้สึกได้ว่าสนามพลังงาน กระแสคลื่น กระแสรัศมีแห่งจิต แผ่สว่างกระจายรายรอบ ครอบคลุมอาณาบริเวณที่เราฝึกสมาธิอยู่ขณะนี้ ใจยิ่งสว่างเป็นสุขผ่องใส นิ่งสงบอยู่กับแสงสว่าง อยู่กับความเป็นประกายพรึกอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกอันเอิบอิ่มเป็นสุข บุญคือความสุข จิตของผู้มีบุญก็คือ มีรัศมี มีแสงสว่าง ยิ่งมีแสงสว่างมาก นั่นก็คือจิตดวงนั้นมีบุญ มีกุศล รัศมีแสงสว่างของจิตสัมพันธ์กับอารมณ์ใจ ยิ่งสว่าง ยิ่งใส ยิ่งระยิบระยับ จิตเรายิ่งเป็นสุข เชื่อมโยงอารมณ์กรรมฐานกับภาพนิมิตให้ชัดเจน เชื่อมโยงสัมพันธ์ จนรู้สึกได้ว่าจิตของเราสว่าง จิตของเราเป็นสุข จิตของเราผ่องใส จิตของเราสะอาดสว่าง สงบเย็น ทรงอารมณ์ไว้ ให้จิตเรารู้ตื่นขึ้นสู่จิตเดิมแท้อันเป็นประภัสสร เป็นเพชร เป็นประกายระยิบระยับ กำหนดรู้ในธรรม มีสติพิจารณาในธรรม เวทนา คืออารมณ์ที่ปรากฏขึ้น ความสงบ การเจริญจิตเข้าสู่สมาธิ ความสุขที่เกิดขึ้นในจิตของเราเกิดขึ้นจากความสงบ คำที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ ความสุขเสมอด้วยความสงบนั้นไม่มี
ให้เรากำหนดตัวรู้สอนใจของเราว่า เราเข้าถึงความสุขแห่งความสงบ ความสุข สงบเย็นของสมาธิ กำหนดนิ่งหยุดสงบผ่องใส พักใจ พักจิตของเราจากการปรุงแต่ง ความวุ่นวาย อารมณ์ที่ฟุ้งไปทั้งหลาย สลายออกไป อยู่กับความนิ่งหยุดเป็นเอกัคคตารมณ์ อยู่กับจิตอันเป็นประภัสสรนั้น นิ่งในบุญ ในกุศล นิ่งในความผ่องใส นิ่งในดวงจิตอันเป็นแก้วบรมจักรพรรดิ์ จิตอันเป็นแก้วสารพัดนึก นิ่ง หยุด สว่าง ใจยิ้ม กายยิ้ม จิตยิ้ม ทรงอารมณ์ของเราไว้ ความสว่างปรากฏ ความผ่องใสปรากฏ ปัญญาพิจารณา อารมณ์จิต ความสุขหรือความทุกข์เกิดขึ้นที่จิต ความวุ่นวายทั้งหลาย ความทุกข์ทั้งหลายเกิดขึ้น จากการที่ใจเราไปปรุงแต่ง ใจเราไปยึด ใจเราไปวุ่นวาย เมื่อเราปล่อยวางอยู่กับความสงบ นิ่ง เย็นผ่องใส ใจเราก็เข้าถึงบุญ เข้าถึงกุศล ความศักดิ์สิทธิ์ อภิญญาจิตทั้งหลายก็เกิดขึ้นที่ใจ กำหนดใจอยู่กับความนิ่ง อยู่กับความเป็นเพชรประกายพรึกนี้
อารมณ์กรรมฐาน อารมณ์จิตสัมพันธ์กับภาพนิมิต จิตเอิบอิ่มเป็นสุข ยิ่งเป็นสุขมากเท่าไหร่ เอิบอิ่มเต็มกำลังมากเท่าไหร่ จิตตานุภาพ แสงรัศมีแห่งจิตก็ดี อภิญญาจิตก็ดี ก็ปรากฏขึ้น ด้วยกำลังแห่งความสุข กำลังแห่งปิติ กำลังแห่งแสงรัศมีที่แผ่ออก กระจายโดยรอบเป็นรัศมีของจิตนั่นเอง ในโลกของกายทิพย์ อาทิสมานกายท่านใด ไม่ว่าจะเป็นเทวดาหรือพรหม ยิ่งมีรัศมีสว่างมากเท่าไหร่ เทพหรือพรหมท่านนั้นก็มีกำลังแห่งบุญ มากกว่าท่านที่มีรัศมีกายแสงสว่างน้อยกว่า แสงสว่างแห่งบุญกุศลนั้น เกิดปรากฏขึ้นจากกำลังของบุญ อันเนื่องนับตั้งแต่ทาน ทำทานมาก ถวายทานในพระพุทธศาสนามาก ให้ทานแบ่งปันแม้ในนอกเขต ให้กับคนทั่วไป ให้กับสัตว์ทั้งหลาย เมื่อให้ทานแล้วใจมันเกิดความสุข ใจมันเกิดความยินดี แสงสว่างก็เริ่มสะสมรวมตัวขึ้น เมื่อเราได้เห็นคนทำบุญสร้างกุศล เราอนุโมทนาบุญกับเขา ความอิ่มใจ ความชื่นใจ ความปิติสุข บุญอันเกิดขึ้นจากการอนุโมทนา ก็กลายเป็นความอิ่ม ความสุขเป็นรัศมีกายย้อนกลับมาที่จิตของเรา
คราวนี้บุญที่มันมากกว่าการให้ทาน ดังที่ครูบาอาจารย์ท่านกล่าวไว้ว่า การเจริญพระกรรมฐาน การทำสมาธิเพียงแค่ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น หรือมีแสงสว่างเป็นรัศมี แสงสว่างเป็นโอภาส แสงสว่างแค่แว๊บเดียว เท่ากับหัวไม้ขีดแว๊ขึ้นมา ยังมีอานิสงส์สูงยิ่งกว่า ตักบาตรทุกวัน จนกระทั่งขันลงหิน สึกทะลุ นั่นก็แปลว่าจริงๆ แล้วถึงแม้ว่าเราได้กำลังสมาธิกันแค่นิดเดียว แค่พุทโธ ไปหน่อยเดียว เกิดนิมิต เกิดโอภาส เพียงแค่แว๊บเดียว ว๊อบๆ แว๊บๆ เห็นแค่แสง ว๊อบๆ แว๊บๆ นั่นก็อานิสงค์มโหฬาร แต่การที่เราทรงจิตจนกระทั่งจิตของเราเข้าถึงปฏิภาคนิมิต เป็นเพชรประกายพรึกสว่าง ภายในจิตสว่างเจิดจ้าดังดวงอาทิตย์ นั่นก็แปลว่าอานิสงค์กระแสจิต กระแสบุญมันรวมตัว จิตของเรามันกลายแสงเทียน เป็นแหล่งกำเนิด หรือสว่างขึ้นดุจดั่งดวงอาทิตย์ อันเกิดขึ้นจากกำลังของการที่เราฝึกสมาธิ เจริญพระกรรมฐาน
เมื่อจิตมันมีความสว่างจากการฝึกสมาธิ จิตเป็นเพชรประกายพรึกสว่าง นั่นก็คือกำลังของบุญก็เพิ่มพูนขึ้นสว่างขึ้น รัศมีกาย อาทิสมานกายของเราก็มีกำลังขึ้น คราวนี้จะให้สว่างกว่านี้ มีกำลังบุญมากกว่านี้ จะให้กายทิพย์ของเรา มีรัศมีกายยิ่งกว่านี้ ก็ด้วยการเจริญการแผ่เมตตา การแผ่เมตตาหากกำลังใจของเรายังมีเมตตาน้อย ยังเข้าไม่ถึงเมตตาใหญ่ แผ่ได้รัศมีแสงสว่างก็เพียงรอบ ไม่ไกลขอบเขต ไม่เกิน 1 วา 2 วา ไม่เกินเขตสถานที่ ที่เราฝึกสมาธิ กำลังใจของเราหากยังมีเมตตาน้อย แผ่ให้คนที่เรารักได้ แผ่ให้ญาติสนิทมิตรสหายได้ แต่พอกำลังใจจะแผ่ไปให้บุคคลที่เกลียดชัง ใจมันกลับละวาง ปล่อยวางไม่ได้ มันแผ่ให้ไม่ได้ กำลังมันก็เลยมีข้อจำกัดอยู่เพียงแค่นี้
หรือบางครั้งอารมณ์ใจมันมีทิฐิ ไปคิดว่า จะให้บุญให้กุศลคนอื่นไปทำไม ไม่ได้มีประโยชน์กับเรา ไม่ได้มีผลประโยชน์กับเรา เราก็ไม่แผ่ให้ซะอย่างนั้น ให้กับคนที่เรารัก นั่นก็คือกำลังใจมันถูกอคติด้วยความรัก ด้วยความชัง มาเป็นเครื่องขัดขวาง จะไปแผ่ให้คนต่างศาสนา จะไปแผ่ให้ทำไม จะไปแผ่เมตตาให้คนต่างประเทศ จะไปแผ่ให้ทำไม แผ่ให้ประเทศไทยอย่างเดียวก็เหลือแหล่ อันนี้ก็คือกำลังใจของเรามันยังมีขอบเขต หรือบางครั้งเราคิดพิจารณาว่าอย่างคนที่เป็นคนเลว คนที่เป็นคนร้าย หรือแม้แต่สัตว์นรก พวกเปรตอสูรกาย มันเป็นผู้ที่รับผลเวรผลกรรม มันเคยเลว เคยบัดซบมา มันก็ควรต้องลำบากอีกใช่ไหม เราจะเป็นไปแผ่เมตตาให้ทำไม ไอ้ตรงนี้มันก็คือเป็นทิฐิของเรา เป็นใจของเราเอง ที่มันยังไม่ได้กว้างขวางมาก
เมื่อไหร่ที่ใจเราทะลุอคติทั้งปวง ทะลุความยึดติดทั้งปวง เข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียว ดังคำที่พระท่านกล่าวไว้ว่า สรรพสัตว์ทั้งหลายล้วนแต่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เราก็จะเริ่มเข้าใจว่า เราก็ดี เขาก็ดี ก็ยังต้องเหนื่อยยาก ยังปรารถนาความสุข ยังปรารถนากุศล ยังปรารถนาผลบุญ การเวียนว่ายตายเกิด การเสวยความทุกข์ เป็นเรื่องของความเร่าร้อน เป็นเรื่องของความอดอยากยากลำบากในภพนั้น ภูมินั้น เมื่อเราเห็นใจสรรพสัตว์ทั้งหลาย สลายอคติทั้งปวง ใจสลายขอบเขตอุปสรรค จิตเปิดกว้างเป็นมหาเมตตาใหญ่อย่างแท้จริง จิตเราก็จะเปิด แผ่เมตตาสว่างกระจายออกไปได้ทุกภพทุกภูมิ
เมื่อจิตของเราแผ่เมตตาไปได้ทุกภพทุกภูมิ กำลังของการแผ่เมตตานั้น อันที่จริงขึ้นอยู่กับ กระแสของใจ รัศมีของจิต ในเมื่อเราตั้งใจเจตนาที่จะแผ่ให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั้งทุกภพทุกภูมิ นั่นก็แปลว่ารัศมีจิตของเราก็จะแผ่ออกไป สว่างออกไปไกลได้ทุกภพทุกภูมิ นั่นก็คือยิ่งแผ่เมตตาอัปปมาณฌาน คือเจริญเมตตาอย่างไม่มีประมาณทุกภพทุกภูมิ สามไตรภูมิ บ่อยเท่าไหร่ มากเท่าไหร่ แผ่ไปด้วยใจอันเอิบอิ่ม แผ่ออกไปอย่างรู้สึกได้ว่า กุศลผลบุญแสงสว่าง ความเมตตาจากใจเรานั้น มันไม่ประมาณ มันไม่มีที่สิ้นสุด พลังงานในจิตของเรา ความเมตตา ความปรารถนาดีในจิตเราเป็น Infinity เป็นพลังงานที่ไม่มีที่สิ้นสุด กำลังรัศมีกายเราก็สว่างอย่างไม่มีประมาณ ไม่มีที่สิ้นสุดเท่านั้น
ดังนั้นยิ่งปฏิบัติไป ปฏิบัติเข้า มากเข้า บ่อยเข้า รัศมีกาย ความเป็นทิพย์ของเราก็สว่างมากขึ้น มีกำลังมากขึ้นเพียงนั้นด้วยเช่นกัน รวมความแล้วว่า กำลังรัศมีกายเราก็กลายเป็นบุญเต็มกำลัง กำหนดทรงอารมณ์แผ่แสงสว่าง ความรู้สึก ความอิ่มใจ ความสุข บุญกุศล ที่สว่างจนจิตเราเป็นประกายพรึก เป็นประภัสสรนั้น แผ่สว่างออกไปอย่างไม่มีประมาณ ทั่วทุกภพทุกภูมิ ทะลุทะลวงไร้อคติ สลายล้างความอาฆาตพยาบาท การจองเวรทั้งหลาย ในจิตใจของเราไปจนหมด อารมณ์ใจที่เราพิจารณาว่า เมื่อเราแผ่เมตตา สลายล้างความอาฆาตแค้นพยาบาท ในจิตเรา กำลังในจิตเราก็กลายเป็นวิปัสสนาญาณ เป็นพลังในการตัดกิเลส เป็นกำลังในการตัดกิเลสที่เรียกว่า เมตตาเจโตวิมุตติจิตวิมุตติหลุดพ้น ด้วยกำลังแห่งเมตตา สลายพยาบาทได้ อันเป็นกิเลสตัวใหญ่ ที่อยู่ในโหมดของโทสะ ความโกรธความโลภ โกรธ หลง เมื่อแผ่เมตตา โทสะเบาบางลง สลายตัวลง พยาบาทหาย ตัดสังโยชน์ในข้อพยาบาทได้ ตัดสังโยชน์ข้ออื่นอีก 4 ข้อ สักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามฉันทะ ตัดครบไปรวมเป็น 5 ข้อ อันที่จริงก็เป็นอารมณ์ของพระอนาคามี
ดังนั้นอารมณ์จิตของเราพิจารณาเสมอว่า เมื่อแผ่เมตตา เราแผ่เมตตาพร้อมกับกำลังใจใหญ่ ในการตัดพยาบาททั้งปวง ไม่เป็นเจ้ากรรมนายเวรของผู้หนึ่งผู้ใด สลายล้างอำนาจกิเลสแห่งโทสะทั้งหลาย สลายสิ้นออกไปจากใจ และในขณะที่เราแผ่เมตตา เราก็น้อมอาราธนาบารมีพระพุทธเจ้า กำลังแห่งพระพุทธเมตตา แผ่สว่างออกไปพร้อมกับกำลังใจที่เราแผ่เมตตาไปด้วย ขอให้กระแสเมตตาจิตของเรา สลายล้างความโกรธ ความอาฆาตพยาบาทความโกรธแค้น เกลียดชัง ความโหดร้าย สลายไปจากดวงจิตของสรรพสัตว์ให้เบาบางลง ดวงจิตใด ดวงจิตสรรพสัตว์ดวงไหน ที่อยู่ในวิสัยที่จะให้อภัย อโหสิ เลิกแล้วพยาบาท เลิกแล้วการเป็นเจ้ากรรมนายเวร ก็ขอให้กระแสเมตตา กระแสบุญ กระแสแห่งพุทธเมตตา ดลจิตดลใจ สลายล้างให้เกิดอโหสิกรรม โมฆะกรรม แรงกรรม แรงวิบากที่เกิดขึ้นในโลก ในสังสารวัฏ ก็จงบรรเทาเบาบางลง มีแต่ความเมตตาสงบสุขสันติร่มเย็น เมตตา อภัย สันติ จิตทั้งหลายจงสงบเย็น เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย จงสลายล้าง จากความอาฆาตพยาบาทข้าพเจ้าและดวงจิตทั้งหลาย จิตของข้าพเจ้าเมตตา สลายล้างความอาฆาตพยาบาท การจองเวรกับดวงจิตอื่น วิบากทั้งหลาย ความอาฆาตทั้งหลาย ความแค้นทั้งหลาย การจองเวรทั้งหลาย เรื่องราวในชาติภพ ในอดีตชาติและปัจจุบัน ขอจงสลายล้างกลายเป็นความว่าง จงเป็นอโหสิกรรม จนจิตของเราเข้าถึงความเบา ความโล่ง ความสงบ กระแสแรงกดดันจากวิบาก กระแสแรงกรรมจากเจ้ากรรมนายเวร ขอจงบรรเทาเบาบางสลายออกไป บุญจงส่งผล ยกจิตให้ข้าพเจ้ารุ่งเรืองขึ้นทั้งทางโลก ทางธรรมด้วยเทอญ
แผ่เมตตาสว่าง จิตเป็นเพชรประกายพรึก สว่าง ขอกำลังกรรมฐาน กำลังแห่งบุญ กำลังแห่งกุศล กำลังแห่งเมตตาอันไม่มีประมาณ ยกดวงจิตชีวิตข้าพเจ้าให้รุ่งเรือง ขอกำลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ แห่งจิตอันทรงฌานสมาบัติ จิตอันเข้าถึงจิตเดิมแท้อันเป็นประภัสสร มีเมตตาไม่มีประมาณ ขอจิตดวงนี้ จงอยู่ในเขตแห่งกุศล อยู่ในเขต อยู่ในสายแห่งโลกุตรธรรม อยู่ในกระแสแห่งมรรคผลพระนิพพานด้วยเทอญ แผ่เมตตา สว่าง
จากนั้นกำหนดจิตต่อไป น้อมใจของเรา กำหนดน้อมนึกภาพพระพุทธรูป กำหนดจิตทุกครั้ง ว่าเมื่อไหร่จิตถึง จิตเห็นพระพุทธรูป จิตเราถึงพระพุทธองค์ พระพุทธรูปทุกพระองค์ พระเครื่องทุกองค์ เมื่อจิตเราถึงพระพุทธรูป พระเครื่องทุกองค์ล้วนแต่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระจริง พระเก๊ พระปลอมไม่มี มีแต่ใจเราที่เก๊ ที่ปลอม ไม่ถึงพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง ใจเราถึงพุทธะ กายเนื้อกราบพระพุทธรูป กายทิพย์กราบพระพุทธองค์บนพระนิพพาน กำหนดใจของเราให้เป็นปกติ อยู่ในกำลังใจที่สูงกว่าบุคคลอื่น บุคคลอื่นกราบพระเพียงอาการ กราบพระเพียงประเพณี แต่จิตเรา กายเนื้อกราบพระพุทธรูป กายทิพย์กราบแทบเบื้องพระบาท กราบแทบตักพระพุทธองค์ทุกครั้ง กำลังใจต่างกัน ผลลัพธ์ของการปฏิบัติต่างกัน กำหนดใจของเรา ตอนนี้กำหนดไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องคิด ไม่ต้องปรุงแต่งอะไร มีความรู้สึกเพียงแต่ว่า ใจเราถึงพระพุทธเจ้าบนพระนิพพานแล้ว ตั้งใจกราบ เห็นกายอีกกายนึง
สำหรับคนที่ยังไม่เคยฝึก หรือยังไม่มีกำลัง ในการฝึก ในการปฏิบัติในมโนมยิทธิ เราก็กำหนดให้เห็นเหมือนกับกายเนื้อเรา แต่เป็นกายใสๆ กราบแทบพระบาทพระพุทธเจ้าอยู่บนพระนิพพาน สำหรับท่านที่เคยฝึก มีกำลังมโนมยิทธิแล้ว เราก็กำหนดเต็มกำลัง เห็นอาทิสมานกายของเราในกายแห่งพระวิสุทธิเทพ กำหนดอยู่ในชุดเครื่องทรงของพระวิสุทธิเทพ สว่างเต็มกำลัง กราบแทบเบื้องพระบาทพระพุทธเจ้า เมื่อกราบลงแล้วก็กำหนดจิต อธิษฐานขออาราธนาบารมี ของพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระอรหันต์ ครูบาอาจารย์ทุกท่าน บนพระนิพพาน ขอเมตตาปรากฏ เป็นมหาสมาคมบนพระนิพพาน มีสมเด็จองค์ปฐมทรงเมตตาเป็นประธานด้วยเทอญ
จากนั้นจึงกำหนดจิต กราบทุกพระองค์พร้อมกันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกราบลงแล้ว ก็กำหนดจิต ว่าเราเจริญพระกรรมฐานอยู่บนพระนิพพาน กำหนดให้เห็นกายของเราที่เป็นแก้วใส น้อมนึกอธิษฐานให้ปรากฏ ดอกบัวแก้วเป็นรัตนบัลลังก์ เรานั่งขัดสมาธิ ปฏิบัติเจริญพระกรรมฐานอยู่เบื้องหน้า ท่ามกลางพระพุทธเจ้า น้อมกระแสฉัพพรรณรังสี กระแสธรรม กระแสมรรคผล ธรรมะที่พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ทุกพระองค์ ทรงเข้าถึงธรรม ขอน้อมนำกระแสธรรมทั้งหลาย จากบนพระนิพพาน ขอจงหลั่งไหลรวมลงสู่กายทิพย์ของข้าพเจ้า ขอน้อมให้กระแสมรรคผล กระแสธรรม จงเข้าสู่กายทวาร กายทิพย์ของข้าพเจ้า มโนทวาร วจีทวารของข้าพเจ้า กระแสธรรม กระแสแห่งฉัพพรรณรังษี ปรากฏหลั่งไหลร่วมลงสู่กายทิพย์ อาทิสมานกายของเราทุกคน
จากนั้นกำหนด ทรงอารมณ์พระกรรมฐานบนพระนิพพาน กรรมฐานในกองที่ชื่อว่าอุปมานุสติกรรมฐาน ซึ่งอยู่ในอนุสติ 10 อารมณ์พระนิพพาน อารมณ์พระนิพพานเป็นอย่างไร อารมณ์พระนิพพานก็คือ อารมณ์ใจที่เราพิจารณาว่า ภพอื่นภูมิใดก็ตาม ไม่ว่าจะความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะความเป็นเทวดาหรือพรหม ก็ยังมีความทุกข์ ยังมีความเวียนวายตายเกิด ไม่ต้องพูดถึงภพอันเป็นทุคติภูมิ เช่น การต้องไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรตอสุรกายเป็นสัตว์นรก อันนั้นเรายิ่งไม่มีใครปรารถนา แต่อารมณ์ที่มันตัดขั้นสูง ที่เรียกว่าต้องทิ้งดี ก็คือ แม้กุศลที่ส่งผลให้เราไปจุติเป็นเทวดา เป็นคน หรือมาเกิดใหม่เป็นมนุษย์ เป็นอภิมหาเศรษฐี เป็นจักรพรรดิ เป็นมหาจักรพรรดิ เป็นพระราชา เป็นผู้ที่มีความสุข เป็นผู้ที่มีเกีรยติ แต่สมบัติทั้งหลาย อันได้แก่มนุษย์สมบัติ เทวดาสมบัติ หรือพรหมสมบัติ ยังมีความไม่เที่ยง มีความเสื่อม มีความแตกสสลายไปในที่สุด
เราพิจารณาแล้ว ว่าเราเข้าถึง ได้เข้าพบพระพุทธศาสนา ได้เจริญพระกรรมฐาน ได้ศึกษาธรรมะ เราพบเจอครูบาอาจารย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชพรหมญาณ หลวงพ่อฤาษี ครูบาอาจารย์สายพระป่า มีท่านที่เป็นพระอาจารย์ใหญ่ เป็นหลวงปู่มั่น เราได้เจอครูบาอาจารย์ พระเกจิมากมาย ที่เข้าถึงความอรหัตผล เราเข้าใจคำว่าพระนิพพาน เราเคยฟังธรรมที่เข้าใจแล้ว ว่าการเกิดเป็นทุกข์ การพลัดพรากจากของรัก ของเจริญใจเป็นทุกข์ เรามีปัญญามองเห็น ความทุกข์ในสังสารวัฏอย่างชัดเจน เมื่อเรายกจิตขึ้นมาอยู่บนพระนิพพาน จิตเราจะมีความปรารถนาอยู่จุดเดียว คือพระนิพพานเป็นที่สุด ความเป็นมนุษย์ไม่เอาอีก ความเป็นเทวดาไม่เอา ความเป็นพรหมไม่เอา เราต้องการจุดเดียว คือพระนิพพาน
นั่นก็คือจิตของเราเริ่มตั้งมั่น ก้าวเข้าสู่กระแสของโลกุตระ จิตเกิดนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในขันธ์ 5 ร่างกาย ความเบื่อหน่ายในการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ เมื่อเบื่อหน่ายในการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ เราจึงเริ่มเห็นคุณแห่งพระนิพพาน เมื่อเห็นคุณแห่งพระนิพพาน จิตก็เกิดธรรมฉันทะ จิตเริ่มยึด มีพระนิพพานเป็นคติที่ไปเพียงจุดเดียว อารมณ์จิตเราก็เริ่มก้าวเข้าสู่กระแสโลกุตรธรรม
พิจารณา ว่าตอนนี้เราอยู่บนพระนิพพาน พิจารณาว่าหากเราตายไปในขณะจิตนี้ กายเนื้อบนโลกตาย แต่จิตเราเข้าถึงอรหัตผลทันทีในขณะจิตนั้น กรรมทั้งหลายไม่ส่งผลกับเรา วิบากทั้งหลายที่มารอคิว รอจ่อเวร ยังมีวิบากกรรมที่เรายังต้องไปเสวยในนรก มีวิบากกรรมที่เราต้องพบเจอกับปัญหา ความทุกข์ อุปสรรคต่างๆ กิจทั้งหลายมันจบ วิบากทั้งหลายมันจบ กรรมทั้งหลายมันจบ ทั้งกรรมดี กรรมชั่ว หรือแม้แต่บุญที่เราสร้าง ที่เราบำเพ็ญแล้วเป็นบุญที่เราต้องรอรับก็จบ เช่น เราถวายสังฆทาน มหาสังฆทาน เราเป็นเจ้าภาพกฐิน ยังมีบุญที่มารอให้เราต้องมาเกิดเป็นกษัตริย์ ต้องไปเกิดเป็นเทวดาอยู่ที่ชั้นดาวดึงส์ มีวิมานขนาดใหญ่พร้อมกับเครื่องบริวารรวมถึงนางฟ้าเทวดา ที่เป็นบริวารอีกมากมาย แต่เมื่อไหร่เราตัดใจ เข้าสู่พระนิพพาน ไม่ว่าจะเป็นวิบาก ฝ่ายอกุศลหรือผลบุญที่เป็นกุศลก็จบ ก็ตัด ก็ทิ้งไปจนหมด เราปรารถนาจุดเดียว คือพระนิพพาน อันนี้คือเหตุผลว่าทำไมครูบาอาจารย์ ถึงบอกว่าต้องทิ้งทั้งดี ทั้งชั่ว แต่ในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่บนโลก ก็จงอย่าทิ้งความดี ละเพียงแต่ความชั่ว ละอกุศล สร้างกุศลผลบุญ ให้ถึงพร้อม ยังจิตให้เข้าถึงความผ่องแผ่วเป็นประภัสสร ซึ่งความผ่องใสประภัสสรสูงสุดของจิต ก็คืออารมณ์พระนิพพาน
หากพิจารณาศึกษาอยู่ในมงคล 38 ประการ มงคลสูงสุด ก็คือ ทำจิตให้ใสบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว จนสิ้นซึ่งอาสวะกิเลสทั้งปวง คือจิตอยู่ในความผ่องใส ในอารมณ์พระนิพพานนั่นเอง ตอนนี้ก็ให้เราทรงในอารมณ์พระนิพพาน กิจทั้งหลายจบแล้ว ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเราแล้ว การเกิด ความพลัดพราก ไม่อาจกระทำย่ำยีกับเราอีกแล้ว น้ำตาที่เราเคยเสีย ในทุกชาติทุกภพที่ร้องไห้ ที่เสียใจ ที่เกิดทุกขเวทนา โศกาอาดูร จากการพลัดพลาด พ่อตายแม่ตาย ลูกตาย สามีพลัดพรากตายจากกันไป ถูกทำร้ายเบียดเบียนเบียดบัง ถูกกระทำย่ำยี ถูกทำร้ายชีวิต น้ำตาที่รินหลั่ง มากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง 7 ความทุกข์ทั้งหลายสิ้น แต่ตราบใดที่ยังต้องมาเกิด น้ำตาก็ยังจะต้องไหล ความทุกข์ก็ยังต้องพบ การพลัดพรากก็เป็นเรื่องปกติ การหมดบุญจากความเป็นเทวดาพรหมก็เป็นปกติ ความพลั้ง ความพลาด ที่จะร่วงหล่นไปสู่อบายภูมิก็มี เราคิดพิจารณาแล้ว เมื่อเห็นธรรม มาสู่ถึงจุดนี้แล้ว หากเราจะประมาทไม่ไปพระนิพพาน ก็ถือว่า ละ ลืมต่อปัจฉิมโอวาทของพระพุทธองค์ ที่ทรงตรัสไว้ว่า จงอย่าได้ประมาทในการทั้งปวง จงอย่าได้ประมาทที่จะไม่ไปพระนิพพาน ในชาตินี้ให้ได้
กำหนดพิจารณาจนกระทั่ง ธรรมจักษุ ดวงตาเราเห็นธรรมะ จิตเรารู้แจ้งตื่นขึ้น ในคุณแห่งพระนิพพาน อาทิสมานกายเราสว่างใส ดอกบัวบานสว่าง น้อมใจของเราให้ผ่องใส อโหสิกรรมให้กับทุกสรรพสัตว์ ทุกดวงจิต ปล่อยวางในทุกสรรพสิ่ง ปล่อยวางในทุกคน อยู่บนพระนิพพานแล้ว เรายังรู้ เรายังเห็น เรายังโปรดได้ แต่ใจเราไม่ทุกข์ ไม่เกาะ ไม่ยึด ฉลาดรู้ ฉลาดละ ในสมมุติทั้งปวง บางชาติเกิดเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก บางชาติก็กลับเปลี่ยนพลิก เปลี่ยนสมมุติ พิจารณาว่าทุกอย่าง การเวียนว่ายตายเกิด ก็เหมือนกับสมมติแห่งละคร ลงมาเกิดบนโลกชาติหนึ่ง ก็เปลี่ยนบทบาทไป พิจารณาจนจิตเราไม่ยึดต่อ เห็นความจริงแห่งสมมุติ ลาภยศ สรรเสริญ สมบัติพัสถาน ทุกสิ่งเป็นสมมุติ เป็นบทที่เราลงมาเล่นบนโลกใบนี้ เปลี่ยนภพ เปลี่ยนสมมุติ ปล่อยวางจากสมมุติ ปัญญารู้ทันในสมมุติความทุกข์ก็หมดไป วางจากความเกาะได้ อุปสรรคทั้งหลายก็จะคลายตัวไป ยิ่งไปเกาะมันมาก ไปเพ่งมันมาก ความทุกข์ยิ่งชัดเจน ยิ่งมาเกาะเรา ยิ่งดึงดูดเข้ามาหาเรา ปล่อยวางได้เมื่อไหร่ ใจหลุดจากวิบากกรรม
กำหนดใจของเราให้สว่างใส ปล่อยวางในทุกสิ่ง อภัยในทุกสิ่ง อภัยในคนใกล้ตัว อภัยในทุกเหตุการณ์ อภัยในความยากลำบาก อภัยให้กับความทุกข์ พิจารณาว่าทุกอย่าง เป็นเหมือนกับบทเรียนที่ทำให้เรายิ่งเห็นคุณค่าของพระนิพพาน ทุกความทุกข์ที่ทำให้เราเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรมแล้วต้องวางทุกข์ ใจเราเมื่อวางทุกข์ จิตต้องเข้าถึงความสุข ความเบา ความสงบ จงอย่าเป็นผู้ที่เห็นทุกข์ แต่ไม่ปล่อยวางความทุกข์ อภัย คือ ปล่อยวาง วางแล้วเบา จิตเราเบา จิตเราสูงขึ้น บุญก็ส่งผล พ้นจากวิบากทั้งปวง เมตตา อภัย ทรงอารมณ์ของเราอยู่บนพระนิพพาน สว่าง พ้นจากความอาฆาตพยาบาล พ้นจากแรงกรรม พ้นจากความห่วง ความยึด พ้นจากสมมุติทั้งปวง พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป กำหนดอาทิสมานกาย กายพระวิสุทธิเทพเรายิ่งใสขึ้น เบาขึ้น เป็นสุขขึ้น เมตตา อภัย สันติ
เมื่อใจเราสบายใจแล้ว ใจเราเป็นสุขแล้ว ก็น้อมกระแสบุญจากพระนิพพานที่เราเจริญสมาธิ เจริญพระกรรมฐาน แผ่ลงมายังอรูปพรหม ลงมายังพรหมโลก ลงมายังสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น ลงมายังภพของรุกขเทวดา ภูมเทวดาแผ่เมตตาลงมายังโลกมนุษย์ แผ่เมตตาให้กับมนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ที่มีกายเนื้อขันธ์ 5 ทั่วอนันตจักรวาล แผ่เมตตาบุญกุศล ตัดภพภูมิให้กับโอปปาติกะสัมภเวสี ดวงจิตดวงวิญญาณทั้งหลาย แผ่เมตตาลงมาให้กับบรรดาเปตรอสูรกายและสัตว์นรกทั้งปวง ขอบุญกุศลส่งถึงสรรพสัตว์ เมตตาเราสว่างกลางใจ เมตตาพรหมวิหาร 4 เต็มกำลัง จิตมีปัญญาเห็นในภัยของสังสารวัฏ ของภพภูมิทั้งปวง
จากนั้นกำหนดต่อไปนะ น้อมใจของเราอยู่กับพระพุทธองค์ ก็จะมีคำเตือนในเรื่องของหลายๆ อย่างเหตุการณ์ต่างๆ ที่กำลังจะปรากฏขึ้นต่อไปในเวลานับแต่นี้ จริงๆ ก็เริ่มเห็นเค้าลางแล้ว ผู้คนก็จะเริ่มล้ตายมจากสาเหตุต่างๆ ในหลายๆ เรื่อง หลับตายไหลตาย ปุบปับตายกัน ใจเรารู้เท่าทันไว้ล่วงหน้าก่อน อย่าไปทุกข์ อย่าไปอาลัยอย่าไปเศร้าหมอง พิจารณาให้เห็นว่ามันเป็นความไม่เที่ยง เป็นกฎของกรรม เป็นวาระของแต่ละบุคคล
และก็พิจารณาว่า เมื่อเราเห็นมรณานุสติ ก็จงน้อมมาสู่ใจเรา เห็นข่าวคนเสียชีวิตปุบปับ ข่าวคนตาย ไม่ว่าถ้าจะเป็นฆราวาส ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต เราพิจารณาก็พิจารณาว่าเรา เห็นข่าวคนตาย เราก็พิจารณาย้อนกลับมาที่ตัวเรา จิตเรา ว่าหากเป็นเรา เราตายเราจะไปไหน ตายแล้วเราจะไปพระนิพพาน ฝึกจนเป็นปกติ เหมือนทุกข่าวของคนตายที่ปรากฏ ก็คือธรรมที่มาย้อนทวน ให้เรารำลึกถึงพระนิพพาน จำไว้เสมอว่าแบบนั้น จิตไม่ต้องแตะต้อง ตายเมื่อไหร่เราไปพระนิพพาน คำว่าคติที่ไป ก็คือ ตายแล้วเรารู้ว่าเราจะไปที่ไหน อันนี้คือเรื่องที่ 1
เรื่องที่ 2 ตอนนี้เหตุการณ์ต่างๆ ก็คือภพภูมิต่างๆ มันเริ่มเปิดมากขึ้น ดวงจิต ดวงวิญญาณทั้งหลาย ที่เขาขึ้นมา ก็มากขึ้น หรือแม้แต่กระทั่งเหล่ามารทั้งหลาย ก็ใช้กำลังของตนมากขึ้น ในฝ่ายของผู้ที่ปฏิบัติธรรมในหลายๆ คนตอนนี้ หลายๆ คน ก็เร่งรัดการปฏิบัติของตนเอง และช่วงนี้ก็จะเป็นช่วงที่วิชาเก่าต่างๆ กรรมฐานเก่า วิชาโบราณทางด้านจิต เริ่มฟื้นคืนกลับมา หลายๆ คนก็จะฝึกเองโดยอัตโนมัติบ้าง หรืออยู่ๆ ฝุดรู้ เข้าใจ รู้ตื่นจากของเก่าที่เราเคยทำได้มาในอดีตชาติบ้าง อันนี้เป็นเรื่องที่อาจารย์พูดคุยกับครูบาอาจารย์หลายๆ ฝ่าย แล้วก็มีความคิดเห็นตรงกันว่า เห็นเรื่องนี้ปรากฏขึ้นมาปกติ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่มีเรื่องเตือน ในช่วงนี้มารเขาก็จะมายุแหย่ให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ความแตกแยกขึ้นในโลก เป็นพลังงานของความแตกแยกในโลก แต่ว่ามันก็มันมีผลกับผู้ที่ปฏิบัติธรรม ช่วงนี้และก็ช่วงที่ผ่านมา มันจะมีกระแสความรู้สึก อารมณ์ มีกระแสความเข้าใจผิด มีกระแสความน้อยเนื้อต่ำใจ อย่างชนิดที่เป็นเรื่องถ้าพูดกันตามตรง ก็คือเป็นเรื่องที่มันไม่เป็นเรื่อง เป็นเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง อยู่ๆ ก็น้อยใจ อยู่ๆ ก็วงแตก อยู่ๆ ก็แยกวง อยู่ๆ ก็แตกกันออกไป ตอนแรกอาจารย์คิดว่า เอ่อ! เราเจอบ่อย เจอหลายครั้ง มันเริ่มผิดปกติ แต่พอคราวนี้ไปพูดคุยกับครูบาอาจารย์ที่เป็นสายอื่น เป็นฝ่ายเทพพรหม เป็นสายพ่อครูผู้ใหญ่ที่มีอายุ ท่านก็เล่าให้ฟังว่า อ้อ! ของท่านก็พบเจอกันช่วงนี้ฝ่ายมารเขาก็เล่น เค้าก็ยุแยง
ดังนั้นเราแต่ละคน ก็พึงมีอารมณ์ใจให้มันหนักแน่น มั่นคงในกุศล มั่นคงในความดร จำไว้เสมอว่า กว่าจะสร้างมิตรภาพ กว่าจะรวมสาน สายบุญจนก่อเกิดเป็นมิตรภาพ เป็นกัลยาณมิตร ใช้เวลาหลายภพหลายชาติ แต่เวลาที่มันจะมันหยุด เวลาที่จะมันจะมาแตกแยก มันเป็นแค่เรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง ที่ไร้สาระเพียงแค่อึดใจเดียว เพียงแค่วันเดียว เพียงแค่เหตุการณ์เหตุการณ์เดียว กลับทำให้มิตรภาพ ความผูกพัน บุญที่สะสมรวมตัวกันมา เป็นเวลากี่ภพกี่ชาติ มันแตกสลายไปอย่างง่าย อันนี้ฝ่ายมารก็คงหัวเราะอยู่ เวลาขึ้นไปข้างบน ไปเจอ เขาก็ล้ออาจารย์ เป็นไงล่ะท่าน คนดีของท่าน คนบุญกับท่าน เป็นไงล่ะ ดีจริงเหรอ เรื่องแค่นี้เขาก็แหย่ เขาก็เล่นเราได้ อาจารย์ก็ยังเจ็บใจอยู่ไม่น้อย คิดดูมันก็ติด กว่าจะรวมตัวกันได้ กว่าจะสร้างคน สร้างบุคลากรได้ ถึงเวลาบทจะพังแล้ว มันพังง่ายเหลือเกิน
ดังนั้นไอ้ตรงนี้ มันก็เป็นเครื่องทดสอบกำลังใจของคนที่เป็นพุทธภูมิ กำลังใจของคนที่เป็นพุทธภูมิ เจอแบบนี้บ่อยเข้า มากเข้า ถึงเวลา ถ้ากำลังใจความมั่นคงในพระโพธิญาณมันยังมีน้อย อารมณ์ใจก็เบื่อหน่าย พาลจะลาพุทธภูมิไป แต่ถ้าหากคิดดูแล้วเนี่ย ไอ้อาการมันเกิดขึ้น สิ่งที่การเกิดขึ้น ภาวะที่มันเกิดขึ้น ที่มารเขายุแหย่ ที่เขายุแยง ถึงเวลาเรายังมั่นคงอยู่ เรายังคิดเสมอว่า ประโยชน์ของคนที่จะได้ประโยชน์ จากการที่เราเผยแพร่ธรรมะ ประโยชน์ของคนที่เขาจะมาได้ธรรมะ ประโยชน์ของคนที่เขาจะมาได้รู้เห็นธรรม มันยังมีอยู่ ถ้าหากเราหยุด เราเลิกไป ก็กลายเป็นว่า ทำให้ Time Line ของบุคคลที่เขาจะพึงได้ กลับกลายเป็นไม่ได้ เขาเสียโอกาสไป แทนที่เราจะช่วยให้เข้าถึงพระนิพพาน ได้อีกร้อยคน พันคน หมื่นคน แสนคน กลายเป็นศูนย์ นั่นก็คือมารเขาทำหน้าที่ของเขาสำเร็จ นั่นก็คือทำลายความดี อย่าลืมว่าคำแปล คำว่า มาร แปลว่าผู้ทำลายความดี
ดังนั้นจำไว้เสมอว่า ความอดทน ขันติ ความหนักแน่นของใจ ความสามัคคีกันในหมู่ชาวธรรม เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่เพียงแต่ความสามัคคี แต่เฉพาะในหมู่ ในสายของตน แต่ในที่สุด เมื่อยุคแห่งชาววิไลปรากฎ ชาวพุทธก็ดี ต้องมีความสามัคคีกันในทุกสายการปฏิบัติดังจะเห็นได้ว่า เมื่อประมาณ 20-30 ปีก่อน การปฏิบัติธรรมทั้งหมด สายใครสายมัน สายนั้นดี สายนี้ผิด สายนั้นไม่ถูก อันนี้เป็นเรื่องที่เป็นปกติในสมัยก่อน ถ้าพูดกันง่ายๆ ในยุคก่อนนี้ 30-40 ปีก่อน เอาแค่คำภาวนายังมานั่งทะเลาะกัน เถียงกัน ภาวนาพุทโธถูก ภาวนายุบหนอพองหนอผิด ภาวนาสัมมาอะระหังนี่ไม่ใช่ นะมะพะธะนี่ไม่ใช่ แต่ถึงเวลาท้ายที่สุด ทะเลาะกันเพราะคำภาวนาของฉันดี ของเธอไม่ดี แต่สุดท้ายความจริงที่เป็นสัจธรรม ก็คือ คำภาวนาทุกคำดีหมด แต่คำภาวนาไหนที่สัปปายะ ตรงกับจริตของเรา อันนั้นก็คือคำภาวนาที่ใช่สำหรับบุคคลนั้น เป็นปัจจัตตังสำหรับบุคคลนั้น ภาวนาแล้วเกิดผล อันนี้คือเรื่องคำภาวนาอย่างเดียว
แต่ในปัจจุบันนี้ ปัญหาจุดนี้ คำภาวนาไม่มีแล้ว การทะเลาะไม่มีแล้ว หรือแม้แต่สายเริ่มมีการรวมตัวกันมากขึ้น สายของพระป่าท่านก็ยอมรับ สายของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ มากขึ้น สายของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ก็เป็นสายพี่สายน้อง กับสายหลวงปู่ดู่ สายพระโพธิสัตว์ สายทุกสายเริ่มเชื่อมโยงถึงกัน ผนวกถึงกันหมด นั่นก็คือเมื่อไหร่ก็ตาม พระพุทธศาสนา รวมตัวเป็นหนึ่งเดียวได้ จะเถรวาท จะเป็นมหายาน รวมตัวเป็นหนึ่งได้ เข้าใจซึ่งกันและกัน สานประโยชน์คำสอนในของครูบาอาจารย์ทุกองค์ ถึงเวลานั้นพระพุทธศาสนา ก็กลับมาเจริญรุ่งเรืองเข้าสู่ยุคชาววิไล
ดังนั้นเราพยายามผ่านจุดคัดกรอง ที่เขาคัดกรองคน พยายามที่จะมีความหนักแน่นในความดี ในกุศล พยายามละอคติทั้งปวงออกไปจากใจ พยายามรักษาใจของเราให้เป็นกุศลไว้ มั่นคงในความดี คิด พิจารณายาวๆ ไว้เสมอ ว่าประโยชน์ที่มันทอดไปอนาคตกาล มันเป็นยังไง ประโยชน์ที่เสียไป หากเราตัดสินใจแบบนี้จะเกิดขึ้น เกิดอะไรขึ้น หมั่นขอขมาพระรัตนตรัยไว้เสมอนะ หมั่นอโหสิกรรมกันไว้เสมอ หมั่นพิจารณาที่จะไม่เป็นเจ้ากรรมนายเวรของผู้หนึ่งผู้ใดเอาไว้เสมอนะ เมื่อพิจารณาแล้วใจเราก็จะเริ่มมีปัญญา ละอคติ ผ่านพ้นเข้าสู่ยุคชาววิไลกันได้ทุกคน
ตอนนี้ก็สมควรกับเวลา น้อมใจของเราให้เอิบอิ่มผ่องใส ทรงอารมณ์อยู่บนพระนิพพาน สว่าง จิตเป็นเพชรประกายพรึก สว่าง น้อมจิตกราพระพุทธองค์ โมทนาสาธุกับกัลยาณมิตรทุกคน ที่ปฏิบัติธรรมร่วมกัน และที่มาฟังในภายหลัง กำหนดจิตขอให้กุศลความดี จงส่งผลเปิดบุญ เปิดสายทรัพย์ เปิดสายสมบัติ เปิดบารมี เปิดกรรมฐานเก่าของเรา ให้จิตเรามีความแจ้งในธรรมทั้งปวง จากนั้นอธิษฐานจิต ใช้ปัญญาพิจารณาว่า เมื่อเราทรงอารมณ์กรรมฐานเต็มกำลัง ความสว่างเต็มกำลัง ความบริสุทธิ์ของจิต ยกขึ้นไปบนพระนิพพาน กำลังฌานมี กำลังกุศลมี กำลังความบริสุทธิ์ของจิตมี อธิษฐานจิตในสิ่งที่ชอบ ประกอบไปด้วยธรรม ด้วยกุศล สิ่งใดที่ไม่เกินอำนาจกฎของกรรม เราพึงอธิษฐานขอได้ ทั้งทางโลก ทางธรรม
เมื่ออธิษฐานจิตแล้ว เราก็กำหนดจิตพุ่งอาทิสมานกาย พร้อมกับน้อมกระแสจากพระนิพพาน ลงมายังกายเนื้อ ลงมายังบ้านเรือนเคหะสถาน ลงมายังกิจการร้านค้า น้อมจิตให้สว่าง บุญส่งผล ใจเราสว่างผ่องใส
หายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ กำหนดพุท ออกโธ กำลังพุทธคุณรักษาคุ้มครอง
หายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ ครั้งที่สอง ธัมโม หายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ สังโฆ
พุทโธ ธัมโม สังโฆ คุณพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ คุ้มครองรักษา
จากนั้นค่อยๆ ลืมตาขึ้นช้าๆ พร้อมกับจิตอันเป็นสุข เอิบอิ่ม ผ่องใส สว่าง กระแสธรรมคุ้มครอง ชำระล้างกาย วาจา ใจ ให้สะอาดในศีล ในธรรม ในความดี กาย จิต เอิบอิ่ม สว่าง แช่มชื่น โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลาย สลายหายไปจนหมด เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หมดเคราะห์ หมดวิบาก ผ่านพ้นอุปสรรคทั้งปวงได้โดยง่าย สำหรับวันนี้ก็ขอโมทนากับทุกคนนะครับ ขอให้มีแต่ความสุข มีแต่ความเจริญ มีปัญญารู้แจ้งในธรรม อารมณ์จิตอันตั้งมั่นในฌาน อภิญญาจิต แล้วก็มีความคล่องตัวกันทุกคน สำหรับใครที่มีจิตศรัทธาก็ช่วยกันเขียนแผ่นทองอธิษฐาน แผ่นทองอธิษฐานพระนิพพาน เดี๋ยวถึงเวลาจะได้รวบรวมสร้างพระนะครับ คนไหนที่ตั้งใจยกจิตขึ้นพระนิพพาน 1 ครั้งก็เขียนแผ่นทอง 1 แผ่น รวบรวมให้ได้แสนแผ่น แสนคำอธิษฐานพระนิพพาน มีกำลังความบริสุทธิ์ของจิตนะ สำหรับวันนี้ก็สวัสดีครับ พบกันใหม่สัปดาห์หน้า
ถอดความและเรียบเรียงโดย : คุณสิริญาณี แลบัว